‘บีซีพีจี’ปั้นบล็อกเชน… เทคโนโลยีหนุนประชาชน ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายแรกของประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้พลังงานทดแทนคือ คีย์หลักในการสร้างความสมดุลด้านสำรองไฟฟ้าของประเทศ ด้วยคุณสมบัติเด่นด้านการดูแลโลก ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชน ที่ดีกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล คือ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ

ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกจึงสนใจและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพลังงานด้านนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกิดขึ้นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเครือบางจาก ที่นอกจากจะชูเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเพื่อส่งขายเข้าระบบตามปกติแล้ว วันนี้ “บีซีพีจี” ยังถือเป็นเอกชนรายแรกของไทยที่เดินหน้าพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลบล็อกเชน คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองและจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายให้กับผู้อื่น เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกินโดยการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวควบคุมระบบ

บัณฑิต สะเพียรชัย

บล็อกเชนยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย เมื่อเร็วๆ นี้ นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) จึงนำคณะสื่อมวลชนไทยเข้าเยี่ยมชมโครงการ “ไวท์ กัม วัลเลย์” พัฒนาโดยเพาเวอร์ เล็ดเจอร์และพันธมิตร บริเวณใกล้เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย

ผู้บริหารผู้คิดนอกกรอบรายนี้ อธิบายโครงการต้นแบบมาจากโครงการ ไวท์ กัม วัลเลย์ เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ระหว่างการเยี่ยมชมว่า ไวท์ กัม วัลเลย์ เป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการผลิต และซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการนี้มีผู้อยู่อาศัย 80 ครัวเรือน ประกอบไปด้วยห้องพักและทาวน์เฮาส์ที่ใช้แผงโซลาร์ 150 กิโลวัตต์ ในการผลิตไฟฟ้า และแบตเตอรี่ 300 กิโลวัตต์ชั่วโมง กักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้

Advertisement

โดยผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างการใช้พลังงานระหว่างพลังงานที่มาจากสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่และที่มาจากเครือข่ายไฟฟ้าของเวสเทิร์น เพาเวอร์ ด้วยระบบไมโครกริดเชื่อมต่อกับเครือข่ายไฟฟ้าของเวสเทิร์น เพาเวอร์ ซึ่งเป็นการไฟฟ้าระดับท้องถิ่นของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ทำให้ประชาชนมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าภาครัฐประมาณ 25%

โครงการดังกล่าวนายบัณฑิตได้นำไปเป็นต้นแบบโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในเมืองไทย ได้แก่ โครงการฮาบิโตะมอลล์ สุขุมวิท 77 ของ บมจ.แสนสิริ กำลังการผลิตติดตั้ง 55 กิโลวัตต์ โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ กำลังการผลิตติดตั้ง 230 กิโลวัตต์ และโครงการคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ พาร์ค คอร์ท สุขุมวิท 77 ของบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด กำลังการผลิตติดตั้ง 180 กิโลวัตต์ คาดว่าเริ่มจำหน่ายไฟระหว่างกันได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นโครงการต้นแบบในประเทศไทย เป็นเจ้าแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“การซื้อขายไฟฟ้าผ่าน 3 โครงการดังกล่าว บีซีพีจีจะติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปไว้บนอาคาร เพื่อผลิตไฟฟ้า จะมีแบตเตอรี่กักเก็บไว้ แต่ละแห่งจะใช้ไฟฟ้าแตกต่างกัน เช่น โรงเรียนจะใช้ไฟฟ้าในเวลา 07.00-15.00 น. โครงการฮาบิโตะใช้เวลาประมาณ 10.00-22.00 น. อพาร์ตเมนต์จะใช้ช่วงเวลาดึกถึงเช้า แต่ละแห่งเมื่อผลิตไฟฟ้าเก็บไว้แล้ว หากรายใดผลิตเหลือใช้เวลาไหนก็จะมีการซื้อขายผ่านกันเอง ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท เพาเวอร์ เล็ดเจอร์ ซึ่งราคาจะถูกกว่าซื้อไฟของการไฟฟ้าฯประมาณ 15% เช่น ซื้อไฟจากการไฟฟ้าฯหน่วยละ 4 บาท หากซื้อไฟผ่านระบบนี้จะประมาณ 3.40 บาท และในอนาคตคาดว่าราคาจะถูกลงอีก” ผู้บริหารบีซีพีจีอธิบาย

Advertisement

โดยการซื้อขายลักษณะนี้ถือเป็นประโยชน์ 3 ส่วน 1.ประชาชนได้ซื้อไฟฟ้าที่ถูกลง 2.มีรายได้เพิ่มจากการขายไฟฟ้า 3.ประเทศชาติได้ประโยชน์ ประหยัดงบในการสร้างโรงไฟฟ้า และลดการนำเข้าพลังงาน

นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนใช้ผลิตไฟฟ้าของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ที่ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โครงการนิคมฯต้นแบบของนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 1,500 ไร่ เบื้องต้นบีซีพีจีจะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ในพื้นที่ทั้งแบบทุ่นลอยน้ำ และบนหลังคาโรงงานภายในนิคมฯ จำนวน 100-200 เมกะวัตต์ คาดมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 3,500-7,000 ล้านบาท โดยโครงการจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจที่ชื่อ เซ็นเตอร์ ออฟ ดิจิทัล เอ็นเนอร์ยี่ (โค้ด) ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ 2 โครงการข้างต้น และโครงการอื่นๆ ในอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน”

ถามความเห็นต่อภาพรวมนโยบายพลังงานทดแทนของประเทศไทย นายบัณฑิตตอบอย่างน่าสนใจว่า มีโอกาสได้หารือกับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสนับสนุนแนวคิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานทดแทน

ถ้านโยบายสนับสนุนให้ประชาชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นไปตามที่นายบัณฑิตคาดการณ์ การกระโจนเข้าไปเล่นกับเทคโนโลยีใหม่หมาดอย่างบล็อกเชน ก็น่าจะทำให้บีซีพีจีสดใสในระยะยาวแน่นอน

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image