“ดีแทค”อุบไต๋ ยังไม่เคาะร่วมประมูลคลื่น 1800 กสทช.ไม่รับลูกเปลี่ยนเกณฑ์

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมในการลงทุนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะหลังจากที่ได้มีการเสนอความคิดเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปแล้วนั้น กสทช.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์แต่อย่างใด ส่วนจะเข้าประมูลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัทฯ จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโทรคมนาคม เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์การประประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กสทช.กำหนดไว้ ประกอบด้วย 1.เปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ 2.ใช้สูตรการประมูล N-1 (N = จำนวนผู้เข้าประมูล) เช่น ถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต 3.ราคาเริ่มต้นการประมูล 37,457 ล้านบาท 4.ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท 5.ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี และ 6.หากทิ้งการประมูล จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท อีกทั้งบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ไม่มีสิทธิเข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากละทิ้งใบอนุญาตในการจัดประมูลครั้งก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนหน้านี้ นายลาร์ส เคยให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า มีความกังวลต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ที่กลับไปใช้แนวทางประมูลเดิม สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0 โดยดีแทคได้เสนอความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้กสทช.พิจารณา อาทิ 1.ขอให้พิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้เหมาะสมเพิ่มขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทย 2.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต โดยการกำหนดใบอนุญาตคลื่นความถี่ ชุดละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ (แทนขนาด 2×15 เมกะเฮิรตซ์) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถเลือกประมูลจำนวนคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานแต่ละราย สอดคล้องกับแผนธุรกิจและการลงทุนและยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และ 3.การพิจารณาทบทวนข้อกำหนด N-1 (การกำหนดจำนวนใบอนุญาตที่นำมาประมูลต้องน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล) ในการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งควรยกเลิกกฎนี้ เนื่องจากส่งผลเสียต่อการแข่งขันและผู้ใช้งานในภายหลังประมูล เนื่องจากกฎนี้จะทำให้เกิดสภาวะเสมือนการขาดแคลนคลื่นความถี่จากที่มีอยู่เดิม และผู้เข้าประมูลบางรายอาจถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าประมูล โดยทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการลดการแข่งขันในตลาด และลดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image