“ฐาปน”นำทีมลงอุดรฯเก็บข้อมูลพัฒนาประชารัฐ พบคนบ้านเชียงยังตื่นตัวน้อยมาก

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้เดินทางไปยังจังหวัดอุดรธานีเพื่อติดตามงานที่รับผิดชอบ โดยมีคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจากส่วนกลาง นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) ทั้งนี้มีคณะทำงานฯจังหวัดอุดรธานี ร่วมกันนำเสนอปัญหา ศักยภาพ ความต้องการของพื้นที่ และแผนโครงการที่จะดำเนินการจากชุมชนกลุ่มผ้าพื้นเมือง กลุ่มท่องเที่ยวบ้านเชียง กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนทะเลบัวแดง และกลุ่มข้าวอินทรีย์ ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี จากนั้นในช่วงบ่ายนายฐาปนพร้อมคณะทำงานฯได้ลงพื้นที่ศึกษาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านเชียง อ.หนองหาน ตลาดผ้านาข่า อ.เมือง เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของแต่ละชุมชนเพื่อนำไปวางแผนสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้

นายฐาปนกล่าวว่า คณะกรรมการประสานพลังประชารัฐมี 12 คณะทำงาน สำหรับคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานภาครัฐ และตนเป็นประธานภาคเอกชน ดำเนินงานในระยะที่ 1 พร้อมกัน 4 ภาค ใน 5 จังหวัดคือ ภูเก็ต อุดรธานี เพชรบุรี เชียงใหม่และบุรีรัมย์ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินงานตามความพร้อม ไม่มีลำดับก่อนหลัง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งจะจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีอุดรธานี ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีลักษณะเป็นนิติบุคคล เป็นการทำงานทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทางที่มีรูปแบบต่างจากสหกรณ์ มีองค์ประกอบ 5 ประการคือ 1.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต เรื่องทุน เรื่องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก 2.การบริหารจัดการ 3.องค์ความรู้ 4.การตลาด และ 5.การสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร

“สำหรับการลงพื้นที่ชุมชนบ้างเชียงวันนี้ บ้านเชียงมีสมาชิกประมาณ 7,600 คน แต่มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการขณะนี้ประมาณ 45 คน เบื้องต้นคณะทำงานต้องหารือกันว่าจะทำให้พื้นที่บ้านเชียงตื่นตัวได้มากขึ้นอย่างไร จะสื่อสารได้มากแค่ไหน เพราะขณะนี้ประชาชนภายนอกรู้จักแบรนด์บ้านเชียงดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการสร้างจุดขายที่เป็นโฮมสเตย์ ในอนาคตอาจจะพัฒนาให้เป็นจุดศูนย์กลางด้านที่พัก รวมถึงการต่อยอดสินค้าต่างๆ อาทิ จานดินเผาลายบ้านเชียง การเปิดคอร์สหรือกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นรูปและปั้นหม้อ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและพื้นที่ เพื่อจะหาวิธีการที่จะมาดึงดูดนักท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image