ผู้บริโภคยื่นฟ้อง ‘เอไอเอส-ทรู-ดีแทค’ ค่าชดเชย 2.2 หมื่นล้าน ปมคิดค่าโทรปัดเศษ

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 6 มิถุนายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) จัดแถลงข่าว “ผู้บริโภครวมพลังฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือ ยกเลิกปัดเศษวินาทีการโทร” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีสื่อมวลชนให้ความสนใจการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก

ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวว่า ค่ายบริการโทรศัพท์คิดบริการแบบปัดเศษคือ หากมีการโทรเป็นระยะเวลา 1.01 นาที จะปัดเศษเป็น 2 นาที ทำให้ผู้บริโภคเสียหาย ถูกเอาเปรียบจากการไม่คิดค่าบริการตามจริง เคยมีการคำนึงถึงเรื่องนี้และเกิดการลงมติให้เปลี่ยนแปลงในวันที่ 17 พ.ค.59 กระทั่งวันที่ 11 ม.ค.60 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) บังคับห้ามปัดเศษวินาที โดยให้ใช้บังคับแค่ครึ่งเดียวของตลาด ในที่สุดต้องฟ้องศาล เพราะยังไม่มีมติยกเลิกการปัดเศษโทรศัพท์ได้

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า การคิดค่าโทรแบบปรับเศษเป็นปัญหาของผู้บริโภคมาหลายปีแล้ว และยังไม่มีการแก้ไขให้คิดค่าบริการตามจริงได้ จึงเกิดการยื่นฟ้องศาล โดยมูลนิธิต้องขอบคุณทนายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยทำคดีนี้ ทั้งนี้ มีการฟ้องร้องจำนวน 3 คดี และจำเลยคือค่ายโทรศัพท์ทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยมีแกนนำคดีละ 2 คน เป็นผู้บริโภคที่ใช้บริการแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน

“ของเอไอเอสมี น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สื่อมวลชน เป็นโจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และนายวชิร พฤกษ์ไพบูลย์ เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบรายเดือน ของดีแทคมีตนเป็นโจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และ น.ส.รมณีย์ เต็มเปี่ยม เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงิน และของทรูมี น.ส.ชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช.เขตภาคกลาง เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบรายเดือน และนางประจวบ ทิทอง เครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงิน

Advertisement

“ไม่ง่ายเลยที่ผู้บริโภคจะฟ้องบริษัทด้วยตัวเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัทได้ โดยเฉพาะคนที่ใช้งานระบบแบบเติมเงิน คือหาหลักฐานไม่ได้เลย อีกกรณีหนึ่งคือ การถูกเรียกเก็บเงินค่าข้อความทั้งที่ไม่ได้สมัครบริการใด ตรงนี้เป็นเหตุผที่ต้องทำการฟ้องศาล” น.ส.สารีกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปกติตนทำคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่คดีนี้เป็นคดีการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ เมื่อได้รับการติดต่อมาจึงตอบรับทันที เพราะคิดว่าการคิดค่าบริการจำนวนการโทรหากคิดเป็นนาที ควรใช้หลักการปัดเศษลง แต่ปัจจุบันใช้หลักการปัดเศษขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย จึงนำตัวแทนมายื่นฟ้องร้องต่อศาล ขณะนี้มีสมาชิกที่กล้าเปิดเผยชื่อประมาณ 80 คน เพื่อนำขึ้นฟ้องศาล ให้ศาสไต่สวนและยอมรับคำร้อง เมื่อศาลยอมรับคำร้องและทำการตัดสินแล้ว จะมีการกระจายข่าวผ่านสื่อมวลชน ทำให้สมาชิกกลุ่มสามารถตัดสินใจได้ว่าตนจะเข้าร่วมกลุ่มเพื่อฟ้องร้องคดีต่อหรือจะถอนตัวออก

“คดีนี้มีหลักฐานชัดเจน เนื่องจากการมีคำสั่ง กสทช.ออกมา เรื่องการคิดค่าบริการที่ไม่ตรงไปตรงมา เชื่อได้ว่าทั้ง 3 ค่ายคิดค่าบริการเกินจริง ฉะนั้น ต้องคืนค่าบริการเหล่านั้นแก่โจทก์และสมาชิกกลุ่ม โดยดูจากคำขอท้ายฟ้อง และต้องคืนให้สมาชิกกลุ่มที่ใช้บริการแบบรายเดือนและเติมเงินในจำนวนเท่ากัน โดยขอให้ศาลพิพากษาเชิงลงโทษ คิดค่าเสียหายเป็นจำนวน 5 เท่าจากที่เรียกร้อง เนื่องจากกรณีนี้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคตั้งแต่แรก ซึ่งหากชนะคดีนี้ โจทก์สามารถรับเงินค่าเสียหายได้โดยตรง ส่วนสมาชิกกลุ่มที่เหลือกว่าสิบล้านเลขหมาย ต้องยื่นคำร้องต่อกรมบังคับคดี บอกว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม ใช้หลักฐานคือใบเสร็จหรือถ่ายภาพหน้าจอการชำระเงินเป็นหลักฐาน และขอรับเงินคืนในช่วงเวลาที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น” ว่าที่ร้อยตรีสมชายกล่าว

ด้าน นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า การดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มเนื่องจากมีผู้เสียหายอยู่ในประเทศทั่วทุกภูมิภาค และใช้บริการของ 3 ค่ายนี้ โดยการฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นการอำนวยความยุติธรรมแบบทั่วถึง ซึ่งผลทางคดีออกมาครั้งเดียวสามารถใช้ได้ทั้งประเทศ และวัตถุประสงค์ที่สำคัญของกฎหมายนี้ก็เพื่อป้องปรามผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สุจริต อาจต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากจากการถูกฟ้อง เช่น คดีนี้เอไอเอสมี 41 ล้านเลขหมาย หากศาลให้ลงโทษรายละพันกว่าบาท จะเป็นเงินเท่าไหร่นั้นยังไม่ได้คำนวณ แต่ถ้าศาลให้จ่ายค่าเสียหาย ซึ่งทั้ง 3 ค่ายโทรศัพท์นี้มีผู้ใช้บริการกว่า 90 ล้านเลขหมาย ฉะนั้น ต้องจ่ายคืนผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image