อินฟราฟันด์ : สนามบินเชียงใหม่-ภูเก็ต แห่งที่ 2

ใครที่เคยใช้บริการ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต จะพบว่าจำนวนผู้โดยสารที่เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าอากาศยานภูเก็ตมีจำนวนเกินขีดความสามารถที่รองรับได้แล้ว

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในฐานะผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง จึงอนุมัติให้ลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 วงเงินทุน 1.2 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นการลงทุนในจำนวนที่เท่ากัน คือ ท่าอากาศยานละ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารท่าอากาศยานละ 10 ล้านคนต่อปี

เบื้องต้นทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 จะอยู่ที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านโคกกรวด จังหวัดพังงา โดยพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้ มีระยะทางห่างจากท่าอากาศยานเดิมประมาณ 20-30 กิโลเมตร (กม.)

Advertisement

โดยขั้นตอนหลังจากบอร์ดอนุมัติแล้ว ฝ่ายบริหาร ทอท.จะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานในไทย ปี 2561-79 โดยในแผนมีเรื่องของการพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้ง 2 แห่งด้วย

ทั้งนี้ ทอท.วางเป้าหมายไว้ว่า หากภายในสิ้นปี 2561 ขั้นตอนทางเอกสารแล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ได้ทันที โดยตามแผนเริ่มตั้งแต่ปี 2562-66 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ไม่เกินปี 2568 โดยสนามบินทั้ง 2 แห่ง เมื่อก่อสร้างเสร็จ จะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ด้วย

Advertisement

สำหรับงบประมาณที่ใช้ลงทุน จะใช้ของ ทอท.เอง เนื่องจากปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดอยู่ถึง 6.2 หมื่นล้านบาท และมีเงินสดที่เป็นกำไรที่ยังไม่หักค่าเสื่อมปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาลงทุนในระยะยาว

โดยงบลงทุนจำนวน 1.2 แสนล้านบาทดังกล่าว จะไม่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินมาก่อสร้างสนามบิน เนื่องจากได้แยกออกมาต่างหาก และมีการพิจารณาว่าจะเป็นการซื้อที่ดินมาเลยหรือเป็นการเวนคืน ซึ่งต้องดูแต่ละพื้นที่ไม่ว่าเหมาะสมจะดำเนินการอย่างไร

ก่อสร้างเสร็จเมื่อไหร่ เชื่อว่าปัญหาความแออัดของสนามบินทั้ง 2 แห่งจะลดลง และช่วยให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นแน่นอน!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image