เกือบเต็ม!! สพค.ประเมิน ‘คูปอง’ ให้ตัวเอง 9 เต็ม 10 แต้ม

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ระบุว่าโครงการพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ โดย สพฐ.จัดสรรงบประมาณให้ครูคนละ 10,000 บาท เพื่อเลือกช็อปปิ้งหลักสูตร เพื่อนำความรู้ และทักษะจากการอบรมไปพัฒนาผู้เรียน โดยนายอดิศรมองว่าตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน และจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 200,000 คน ไม่สะท้อนคุณภาพ เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับกลายๆ โดยโรงเรียนขู่ว่าถ้าไม่ลงทะเบียน จะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะนั้น ว่า ไม่อยากให้ดูถูกครู เชื่อว่าการที่ครูมาลงทะเบียนกันมากเพราะต้องการพัฒนาตัวเอง

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า อย่างรอบแรก มียอดจองหลักสูตรถึง 296,553 ที่นั่ง จากครู 204,535 คน สะท้อนว่าครูจำนวนมากจองมากกว่า 1 หลักสูตร ยิ่งกว่านั้น ครูสอบถามเข้ามามากว่าจะอบรมมากกว่า 1 ครั้งได้หรือไม่ หลังใช้สิทธิ 10,000 บาทไปแล้ว โดยยอมจ่ายเงินส่วนตัวเอง สะท้อนว่าครูต้องการพัฒนาตัวเองจริงๆ แต่ถ้าใครคิดว่าถูกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือผู้อำนวยการโรงเรียน บังคับให้ลงทะเบียนเพื่อสร้างตัวเลข ให้แจ้งมาได้ ยินดียกเลิกการลงทะเบียนให้

“จริงๆ น่าจะรู้กันว่าถ้าไม่สอนหนังสือ ถึงจะไม่ได้เงินวิทยฐานะ และเรื่องการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ไม่เป็นไร ที่นายอดิศรช่วยชี้แจง ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมว่าครูจะต้องพัฒนาความรู้เพื่อสอนเด็กให้ทันกับยุคปัจจุบันที่ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ครูจะไปอบรมเองก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเกิดผลประโยชน์ต่อเด็ก ความจริงต้องขอบคุณ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วยซ้ำ ที่เชื่อมเรื่องคูปองครูกับวิทยฐานะ ซึ่งเป็นการรวม 3 ลู่เข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อครู คือ ลู่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องวิทยฐานะ, ลู่ สพฐ.เรื่องการอบรมครู และลู่คุรุสภา เรื่องมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” นางเกศทิพย์ กล่าว

นางเกศทิพย์กล่าวอีกว่า ส่วนที่เสนอให้คนนอกเข้ามาประเมินโครงการนั้น ถ้าต้องใช้งบเพื่อจ้างคนนอกประเมิน คงไม่จ้างให้เสียเงิน แต่ถ้าหน่วยงานใดจะของบจากแหล่งอื่นมาประเมิน ก็ยินดี เพราะถ้าจ้างประเมิน มองว่าจ้างให้ติดตามว่าใครไม่ช่วยพัฒนาครูดีกว่า ส่วนที่มองว่าโครงการนี้ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนนั้น ส่วนตัวมองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนมากขึ้น ถ้าถามโรงเรียน จะได้คำตอบว่าเด็กอยากมาโรงเรียนมากขึ้น เพราะได้เจอสื่อ ไม่เหมือนอดีตที่เรียนจากตำราอย่างเดียว ถ้าอยู่ในไลน์กลุ่มครู จะเห็นว่าครูพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องผลิตสื่อ สร้างเครือข่ายการผลิตสื่อ ฉะนั้น ถ้าให้ประเมินโครงการนี้ในฐานะผู้รับผิดชอบ ต้องบอกว่าพอใจที่ครูเปลี่ยนทัศนคติ หันมาพัฒนาตนเอง ซึ่งการเปลี่ยนมายด์เซ็ตไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องนี้ตนให้ 9 จาก 10 คะแนนเต็ม ส่วนที่ครูนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์กับนักเรียนมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องให้คนอื่นประเมิน เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

Advertisement

“โครงการคูปองครูปีที่ 2 เบื้องต้นประหยัดงบการเดินทาง และค่าที่พักได้ 200-300 ล้านบาท โดยมี 97 หลักสูตรที่จ่ายแค่ค่าลงทะเบียน โดยจัดอบรมภายในเขตพื้นที่ฯ ตัวเอง 27,732 คน และภายในจังหวัดตนเอง 62,695 คน สำหรับแนวทางการปรับปรุงโครงการในปีหน้า สพค.จะนำข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ มาปรับ โดยเฉพาะการบริหารจัดการการจองหลักสูตร ยืนยันว่าการจองยังจำเป็น เพราะช่วย 3 เรื่อง คือ 1.ประหยัดงบเดินทาง และค่าที่พัก 2.อำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยพัฒนาครู และ 3.สพฐ.ประมาณการค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ได้” นางเกศทิพย์ กล่าว

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า สำหรับยอดครูช็อปปิ้งหลักสูตรจากครูที่มาลงทะเบียนในระบบทั้งหมด 351,332 คนนั้น รอบแรกช็อปปิ้ง วันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน มีครูเลือกหลักสูตร หรือยืนยันสิทธิ 204,535 คน จำนวน 257,558 ที่นั่ง ได้รับอนุมัติ 248,929 ที่นั่ง ใช้งบ 1,450,078,676 บาท ขณะที่ปี 2560 ใช้งบ 1,219,348,111 บาท อบรมประมาณ 170,000 ที่นั่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image