สพฐ. แจงทางเลือกอบรมครู มีหลายช่อง-เล็งรวมหลักสูตรดีเสนอ ก.ค.ศ. ขอวิทยฐานะได้

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายบุญรักษ์  ยอดเพชร  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ระบุว่าโครงการพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ โดย สพฐ.จัดสรรงบประมาณให้ครูคนละ 10,000 บาท เพื่อเลือกช็อปปิ้งหลักสูตร เพื่อนำความรู้ และทักษะจากการอบรมไปพัฒนาผู้เรียน ไม่สะท้อนคุณภาพ เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับกลายๆ โดยโรงเรียนขู่ว่าถ้าไม่ลงทะเบียน จะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ  ว่า แนวทางที่ครูทุกคนควรจะรู้คือ การอบรมที่จะสามารถนับชั่วโมง เพื่อนำมาขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะการอบรมในหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาให้การรับรองเท่านั้น  ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดอบรม เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดี อีกจำนวนหนึ่ง โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังรวบรวมหลักสูตรดี  มีคุณภาพที่ครูไปอบรม  เพื่อจะนำมาเสนอ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรอง เพื่อนับชั่วโมงให้  ทั้งนี้การอบรมในหน่วยงานอื่น ๆ สพฐ.ไม่ได้จัดงบประมาณในการอบรม เพราะหน่วยงานที่จัดอบรมมีงบประมาณอยู่แล้ว

“ฝากครูว่า ไม่ต้องเครียด ว่าจะถูกบังคับ ต้องไปอบรมในหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองเท่านั้น ขอให้สอบถามหน่วยงานต้นสังกัด  หรือที่ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) ขณะเดียวกัน สพฐ. อยู่ระหว่างรวบรวม ข้อดี ข้อเสีย ของโครงการพัฒนาครู  ซึ่งคาดว่า เร็ว ๆ นี้นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกัน “นายบุญรักษ์กล่าว

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับการอบรมครูในปีนี้ มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาเข้ามาน้อยมาก  จะมีแต่บางเรื่องการประสานงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะในเชิงระบบ เราได้รวบรวมปัญหา การดำเนินการในปีที่ผ่านมา ทั้งของครู ของฝ่ายจัดอบรม และความเห็นของสังคมในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ เดินทางไปอบรม ซึ่งบางที่จัดอบรมค่อนข้างไกล  งบประมาณสูง หลักสูตรไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสพฐ. พยายามแก้ไข โดยกำหนดกระบวนการรับรองหลักสูตรใหม่  ที่จะมีสถาบันคุรุพัฒนา รับรองหลักสูตร จากนั้น สพฐ. จะตั้งกรรมการตรวจสอบคุณภาพ  อีก 2 เรื่อง คือ หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง สามารถใช้อบรมครู สพฐ. ได้ตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่ สพฐ. ก็ไม่ขอใช้ และให้เป็นเพียงตัวเลือกสำหรับครูที่สนใจ  อีกเรื่องคือ ตรวจสอบว่า งบประมาณที่ขอตั้งในการอบรม เหมาะสมหรือไม่  โดยพิจารณาตามระเบียบกระทรวงการคลัง(กค.)ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ   และมาตรฐานของสพฐ. ซึ่งกำหนดวงเงินในการใช้สิทธิได้น้อยกว่าที่กค. กำหนด  เพราะเรามีบุคลากรจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องใช้งบฯ อย่างประหยัด หากผ่านการพิจารณาตามกระบวนการทั้งหมด สพฐ.จึงจะอนุมัติให้เบิกเงินราชการได้  โดยเน้น ประโยชน์ ประหยัด และทำให้เกิดประสิทธิภาพ ควบคุมเงินให้อยู่ในมาตรการประหยัดของสพฐ. กำหนดให้ครูอบรมในเขตพื้นที่ฯ เป็นอันดับแรก ถ้าจำนวนครูไม่พอ ให้รวมกลุ่มในจังหวัด เพื่อไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัด  กรณีคนในจังหวัดไม่พอ ให้รวมกลุ่มกับจังหวัดอื่น แต่กรณีนี้จะพิจารณาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image