กอปศ.รุกประชาพิจารณ์ กม.การศึกษา คาดชง ครม.สิ้น ก.ค.(คลิป)

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยมีผู้เเทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ปกครองกว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟัง และเสนอข้อคิดเห็น ว่า ไทยประสบปัญหาด้านการศึกษาหลายด้าน เช่น คุณภาพการศึกษาไม่ดีพอ การบริหารจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้การศึกษาไทยถดถอย ไม่สามารถเเข่งขันกับประเทศอื่นได้ จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อเป็นหลักในการศึกษาของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดระบบการศึกษาของประเทศ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

นางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธาน กอปศ.กล่าวว่า หลักการ เเละกรอบแนวคิดของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือระบบการศึกษาต้องครอบคลุมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย การศึกษาตามระบบ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัย พร้อมทั้งจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ เพื่อวิจัยและพัฒนาหลักสูตรแกนกลาง และให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณานโยบายด้านคุณภาพการศึกษาของชาติในการศึกษาทุกรูปแบบ

นายวีระชัย เตชะจิตร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ คิดว่ามาถูกทาง แต่อยากให้เพิ่มมาตรา 45 ให้สถานศึกษาจัดให้มีการบริการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา วรรค(2) ระบบความปลอดภัยในโรงเรียน 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการสิ่งเเวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัย ด้านการจัดการบริการความปลอดภัยในโรงเรียน และด้านการจัดการเรียนการสอนสวัสดิภาพศึกษาเป็นพิเศษ แต่อยากให้เพิ่มเติมด้านการบรูณาการจิตใจให้เกิดความสุข เพราะปัจจุบันมีการรังแกกันในโซเชียลมีเดียมาก ต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการรังแกกัน

Advertisement

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีโครงสร้างที่ยังขาดอยู่ คือการกำหนดบทบาทหน้าที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่ถือว่าสำคัญมาก ถ้าไม่กล่าวถึงจะเกิดปัญหาในเชิงบริหารจัดการ ความไม่ครอบคลุมมากพอ และการจัดการศึกษาบางข้อยังไม่ได้ตกผลึก บางมาตราเป็นเพียงหลักการเท่านั้น แต่ยังไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ

Advertisement

นพ.จรัสให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย อีกทั้ง กอปศ.เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีมากกว่า 10,000 ความคิดเห็นเเล้ว และในวันที่ 5-6 กรกฎาคม จะรับฟังความคิดเห็นจากตัวเเทนประชาชนในต่างจังหวัดต่อไป เมื่อทำประชาพิจารณ์เสร็จเเล้ว กอปศ.จะหารือเพื่อปรับกฎหมายในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นเดือนกรกฏาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image