น.ศ.สิงห์อาสา ผนึกกำลังสร้าง ‘ฝายชะลอน้ำ’ ที่เชียงราย

“ฝาย” เป็นหนึ่งในวิธีรักษาธรรมชาติ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ช่วยกักเก็บน้ำและชะลอการไหลเวียนของน้ำ ป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำลำธารได้ดี โดยเฉพาะฤดูฝนที่เสี่ยงต่อกระแสน้ำที่รุนแรง

ด้วยความตระหนักถึงธรรมชาติ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาภาคเหนือ 10 สถาบัน ผนึกกำลังกับ กลุ่มสิงห์อาสา โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี จัดโครงการ “สิงห์อาสากับภารกิจสร้างฝายชะลอน้ำ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าเชียงรายอย่างยั่งยืน” เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำโดยได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่พร้อมกันที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำ

บรรยากาศเต็มไปด้วยแรงใจและกำลังพลของเหล่านักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่หลายร้อยคน ทุกคนต่อแถวเพื่อเป็นเส้นทางในการลำเลียงวัสดุที่ใช้ในการสร้างฝายลงสู่ลำห้วยป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง โดยวัสดุที่ใช้หาได้จากธรรมชาติในพื้นถิ่น เริ่มจากการตีไม้และปักเสาระบุตำแหน่ง ใช้หินวางเรียงตัวกันเป็นแนวฝาย แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อย เสื้อผ้าเปียกปอน และมีเหงื่อไหลท่วมกาย แต่เหล่าบรรดานักศึกษาและชาวบ้านไม่ย่อท้อ เดินหน้าสร้างฝายกันอย่างแข็งขัน เป็นภาพของความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อมนุษย์และธรรมชาติ

โดยการสร้างฝายชะลอน้ำป้องกันภัยแล้งครั้งนี้ เป็นการสร้างแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จำนวน 15 ฝาย ตลอดระยะทางกว่า 100 เมตร ซึ่งในพื้นที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยง มีประชากรอาศัยกว่า 70 ครัวเรือน จำนวนทั้งหมด 200 คน ได้รับประโยชน์ของการชะลอน้ำ และเก็บกักน้ำ

Advertisement

สำหรับกิจกรรมนี้ มีตัวแทนสถาบันเครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา วิทยาเขตเชียงราย จ.เชียงราย มทร.ล้านนา จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กว่า 100 คน

นายสุวัฒน์ สิทธิบุญ พ่อหลวงบ้านห้วยมะเกลี้ยง เล่าว่า เมื่อก่อนป่าต้นน้ำที่ชุมชนป่าต้นน้ำบ้านห้วยมะเกลี้ยงมีน้ำไม่พอใช้ในการอุปโภคและบริโภคในหน้าแล้ง ปลายังไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี เมื่อมีฝายจะช่วยชะลอความชุ่มชื้นของน้ำให้กับต้นไม้และลำห้วยในหมู่บ้านได้ ในหลายๆ ชุมชนต้องการฝายเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรเกี่ยวกับกาแฟและชา ทำให้ต้องใช้น้ำจำนวนมาก หากมีการชะลอน้ำ ชาวบ้านจะมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งชุมชนเราเป็นคนต้นน้ำ เราดูแลป่าจากต้นน้ำด้วย เพื่อให้คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีน้ำใช้ได้ต่อไป

Advertisement

ส่วน นายวีระยุทธ บุญพยา หรือ “น้องเบนซ์” ตัวแทน มฟล. กล่าวว่า รู้สึกประทับใจที่ได้มาร่วมสร้างฝาย ตนอยู่ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย พอมีโอกาสมาร่วมสร้างฝาย ทำให้นำความรู้ความสามารถที่เรามี มาใช้ในการสร้างฝาย รวมถึงนำความรู้ที่ได้จากที่นี่กลับไปใช้ต่อยอดในชมรมอนุรักษ์ที่มหาวิทยาลัยได้ด้วย

“ฝายจำเป็นสำหรับทุกพื้นที่ เพราะเป็นตัวกักเก็บน้ำ หากที่ไหนน้ำแห้ง ฝายจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันถ้าเกิดน้ำป่าไหลหลาก ฝายก็สามารถกักเศษไม้ไม่ให้ไปสู่พื้นที่ของหมู่บ้านได้ด้วย ซึ่งครั้งนี้มีชาวบ้านมาร่วมด้วย นับว่าเป็นการชักจูงทำให้ชาวบ้านมองเห็นค่าของน้ำในพื้นที่ของเขาเอง และใช้น้ำอย่างมีคุณค่าด้วย” นายวีระยุทธกล่าว

น.ส.นิติรัฐ สิทธิชัยวงค์ หรือ “น้องบิว” มทร.ล้านนา จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ตนศึกษาสาขาโยธา ทำให้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการสร้างฝายครั้งนี้ ซึ่งสามารถใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและส่วนรวมอย่างมาก น้ำคือชีวิต การสร้างฝายจึงมีความจำเป็นมาก ฝายช่วยกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ในฐานะคนในพื้นที่ภาคเหนือ จะเห็นตลอดว่าภาคเหนือมีปัญหาเรื่องน้ำไม่น้อย ทั้งน้ำท่วมจากฝนที่ตกมากเกินไป หรือปัญหาภัยแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการเกษตร กิจกรรมการสร้างฝาย ทำให้เรารู้ว่าน้ำมีประโยชน์แค่ไหน

น.ส.ชิรญา พิมพ์ช่างทอง หรือ “น้องแนน” ตัวแทนจาก มน.กล่าวว่า เป็นสมาชิกค่ายอาสาพัฒนาชนบทของ มน. เคยออกค่ายสร้างอาคารต่างๆ ครั้งนี้เป็นการสร้างฝาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ เรารู้สึกได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเราด้วย พอได้มาสร้างฝาย รู้เลยว่าจำเป็นกับคนในพื้นที่ ซึ่งเราอยู่พื้นที่ด้านล่างที่มีการใช้น้ำจากท่อประปา แต่คนที่นี่ใช้น้ำจากฝาย หากน้ำแห้งจริงๆ ชาวบ้านจะไม่มีน้ำใช้ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ

นายอภิลักษณ์ บุญสูง หรือ “น้องนิว” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดภัยแล้งมากยิ่งขึ้น บางพื้นที่ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ครอบครัวทำการเกษตรพบปัญหาภัยแล้ง น้ำที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีผลผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งการสร้างฝายจะช่วยกักเก็บน้ำ เกษตรกรมีน้ำใช้ในฤดูร้อนและฤดูแล้ง อยากให้มีการสร้างฝายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป รวมถึงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และรักษาธรรมชาติมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้คือ หนึ่งในโครงการดีๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของสังคมเพื่อสร้างความหวงแหนให้เกิดอย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงการพึ่งพากันของคนและธรรมชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image