‘ศิลปากร’ แถลงจัดประชุมนานาชาติ ต.ค.นี้ 4 คนดังระดับโลกร่วมปาฐกถา ย้ำมุ่งหน้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 14.00 น. ที่ท้องพระโรง วังท่าพระ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) มีการแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ QS Totally Arts Summit (Art and Design) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2561 ที่โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด การเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักศึกษาจากสถาบันด้านศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานคับคั่งอย่างมากโดยมีคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงบุคคลในแวดวงศิลปะทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฉายวีดิทัศน์นำเสนอภาพและข้อมูลเกี่ยวกับคณะวิชาต่างๆ ด้านศิลปะของมหาวิทยาลัย รวมถึงแนะนำองค์กร Quacquarelli Symonds หรือ QS สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นพันธมิตรในการจัดงานในครั้งนี้ จากนั้น เป็นการแสดงแฟชั่นโชว์โดยนักศึกษาภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย และภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ พร้อมการขับร้องและบรรเลงดนตรีวง Sunny Trio & Natt Buntita คณาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์

ต่อมา เวลาประมาณ 14.30 น. เป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดย ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศ ในช่วงเวลา 75 ปีที่ผ่านมา สร้างชื่อเสียงทั้งในประเทศและระดับเอเชีย ตอนนี้มีความพร้อมที่จะเติบโตสู่การมีชื่อเสียงในระดับโลก QS ซึ่งเป็นสำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลจึงมองเห็นความพร้อมและเคยประกาศให้ศิลปากรเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ด้านการออกแบบ ในปี 2016 สำหรับคำสำคัญในงานนี้คือการมุ่งสู่นานาชาติ ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประเทศ ในยุคไทยแลนด์ 4.0

“รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ QS เลือกให้ศิลปากรร่วมจัดงานในครั้งนี้ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายความรับรู้เกี่ยวกับการนำศิลปะและการออกแบบมารับใช้ประเทศชาติในยุคที่รัฐบาลมีความคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของไทย งานนี้เรามีบุคลากรด้านศิลปะจากประเทศต่างๆ ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น อิตาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น เชื่อว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน นี่จะเป็นเวทีแรกๆ ที่ประเด็นเหล่านี้จะถูกพูดถึงอย่างจริงจัง” ผศ.ดร.วันชัยกล่าว

Advertisement

นางสาว แมนดี้ ม็อก ซีอีโอ QS ASIA กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยแรกในเอเชียสำหรับการจัดงานดังกล่าว เนื่องจากมีความโดดเด่นอย่างมากในด้านศิลปะและการออกแบบ โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงอยากขับเน้นถึงศักยภาพนี้ เชื่อว่าศิลปากรจะเป็นพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะอันดับต้นๆ ในไทย

ดร.สุภาพ เกิดแสง ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายประกันคุณภาพ มศก.กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของงานคือกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ และผู้มีบทบาทชี้นำวงการศิลปะทั้งในไทยและทั่วโลก ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ ซึ่งไฮไลต์คือ ปาฐกถาพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากศิลปินชื่อดังระดับโลก รวมถึงศิลปินไทย คือ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้แสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย รวมถึงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 55 เมื่อปี 2013 นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะซึ่งเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากรมาจัดแสดงให้ชม

ศาสตราจารย์ ดร.ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ กล่าวว่า ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของวงการศิลปะในประเทศไทย คณะจิตรกรรมฯถือเป็นผู้นำของคณะทางศิลปะซึ่งผลิตศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยการประชุมวิชาการครั้งนี้จะเน้นย้ำด้านการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ

Advertisement

“75 ปีของมหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้วางเมล็ดพืชที่งดงาม เราได้เห็นวงการศิลปะร่วมสมัยในไทยเจริญเติบโต ไทยเป็นประเทศเดียวที่จัดศิลปกรรมแห่งชาติยาวนาน 64 ปี มีศิลปินไทยหลายท่านได้รับรางวัลระดับนานาชาติมานานแล้ว อย่างอาจารย์มณเฑียร บุญมา อาจารย์สุรสีห์ กุศลวงศ์ ซึ่งวงการศิลปะร่วมสมัยของโลกรู้จักและยอมรับ หวังว่าการจัดงานประชุมนานาชาติในครั้งนี้จะทำให้ในวงการมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ญาณวิทย์กล่าว

ดร.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ กล่าวว่า คณะมัณฑนศิลป์เป็นผู้นำด้านการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบและสร้างศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานดีไซน์เนอร์ไทย โดยต้องทำงานรับใช้สังคมและเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วย ล่าสุด มีความร่วมมือด้านการออกแบบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย และพัฒนาผ้าไทยในการส่งออก เชื่อว่าการจัดงานประชุมนานาชาติจะเป็นประตูสู่โลกกว้างอีกทางหนึ่ง

นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินชื่อดัง หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ปาฐกถา กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่ประเทศไทยและมหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับการคัดเลือกให้จัดงาน เนื่องจากมีความเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะมีความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ในเชิงช่าง รวมไปถึงงานศิลปะร่วมสมัย สิ่งที่ได้รับจากการเรียนที่ศิลปากร และความเป็นคนไทยคือความละเอียดอ่อน

“ในงานประชุมครั้งนี้ จะพูดเรื่องประสบการณ์ในการทำงาน กระบวนการต่างๆ จนได้รับการยอมรับ ในความเป็นคนไทย เป็นคนเอเชีย ต้องยอมรับว่าในโลกแห่งความเป็นจริง มักถูกมองอย่างไม่เท่าเทียม ถูกมองว่ามีความด้อยกว่า ซึ่งทำให้รู้สึกประหลาดใจมาก” นายอริญชย์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ปาฐกถาอีก 3 รายได้แก่ ศาสตราจารย์ Shiro Matsui อาจารย์ประจำสาขาภาพแกะสลัก มหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่งเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น, ศาสตราจารย์ Norman Cherry อดีตรองอธิการบดีฝ่ายศิลปกรรม มหาวิทยาลัยลินคอล์น สหราชอาณาจักร และศาสตราจารย์ Kin Wai Michael Siu ผู้เชี่ยวชาญด้าน Public Design มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง และอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก โดยในงานจะมีการมีการพูดคุยใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ปฏิรูปการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบ
2. ศิลปะและการออกแบบในฐานะพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3. วัตถุประสงค์และผลกระทบ : ศิลปะในสังคมมนุษย์ร่วมสมัย
4. การวัดความเป็นเลิศด้านการศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบ รวมทั้งยังมีการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาศิลปากรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทีได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมระดับชาติ และการนำเสนอผลงานวิชาการอีก 25 เรื่อง

ชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก Silpakorn QS Totally Arts และ http://qstotallyarts.com/bangkok-2018/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image