เปิดศักราชใหม่ ประกันคุณภาพการศึกษา สู่เป้าหมายการยกระดับสถานศึกษาไทย

เปิดศักราชใหม่อย่างเป็นทางการกับการประกันคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงนี้ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 ซึ่งที่ผ่านมาถูกโจมตีจากผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะครู ว่าต้องแบกรับภาระเอกสาร เพื่อรับการประเมิน ทั้งการประเมินคุณภาพภายในจากต้นสังกัด และยังต้องเตรียมความพร้อมรับการประเมินภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)

ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รับเป็นแม่งานจัดสัมมนา เรื่อง เปิดศักราชใหม่ในการประกันคุณภาพการศึกษา School –friendly QA : an innovation platform ซึ่งได้เชิญผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา จากศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา จากสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าร่วมกว่า 700 คน มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาลั่นระฆัง เดินหน้าการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษาแนวใหม่ และเดินหน้าการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่ 4 ซึ่งชะลอมานาน

โดย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดสัมมนาว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ ศธ. เริ่มเคาะระฆังในการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบใหม่ ที่จะมีความสอดคล้องกัน ทั้งการประเมินภายใน และการประเมินภายนอก และจะเป็นการสะสางปัญหาที่มีมานาน ให้แก่ครู ที่มีเสียงสะท้อนเข้ามาใน ศธ. ว่า การประเมินที่ผ่านมาสร้างภาระให้แก่ครู ส่งผลให้มีเสียงไม่พอใจเข้ามาให้ได้ยินมากพอสมควร ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง พยายามจะร่วมมือแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งบางครั้งก็รุนแรง วันนี้ความขัดแย้งทุกอย่างจบแล้ว และเรามีกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ฉบับใหม่ ซึ่งจะไม่มีการส่งตัวชี้วัดให้สถานศึกษา ขั้นตอนการประกันคุณภาพจะเป็นไปเพื่อพัฒนา ไม่ให้เป็นภาระกับครู แต่ภาระจะไปตกอยู่ที่ผู้บริหารที่จะต้องวางแผนการประเมินตนเองให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยการประเมินจะเริ่มทันทีใน 4,500 โรงเรียนนำร่อง

Advertisement

การประกันคุณภาพการศึกษาแบบใหม่ กำหนดให้สถานศึกษาจัดทำมาตรฐานการศึกษาของแต่ละแห่งให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภท การศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)กำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ที่มุ่งคุณภาพ ตามมาตรฐานการศึกษา และดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ ตนได้ลงนามในประกาศ ศธ. ที่เกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาทุกระดับไปทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ ศธ. เรื่องให้ใช้มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานศูนย์การศึกษาพิเศษ ประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรฐานการอาชีวศึกษา พ.ศ.2561 และประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งสถานศึกษาในแต่ละระดับ แต่ละประเภท จะต้องไปจัดแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของตนเองตามกรอบมาตรฐานที่กำหนด ….

“สำหรับวิธีการประเมิน สถานศึกษาจะต้องเขียนแผนการประเมินตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ว่าสถานศึกษาของตนเองเป็นสถานศึกษาในระดับใด จาก 5 ระดับ คือ ระดับพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม โดยอาจพิจารณาจากกรอบความพร้อมและปัจจัยภายนอกของโรงเรียน เช่น จำนวนครูต่อจำนวนนักเรียน ความพร้อมของห้องเรียน ระบบอินเทอร์เน็ต ห้องสมุด เป็นต้น กำหนดแผนพัฒนาที่สถานศึกษาจะต้องแข่งกับตัวเอง เพื่อเลื่อนระดับให้ดีขึ้น โดยดูผลความสำเร็จจากคุณภาพนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การแก้ไขปัญหา ความขาดแคลนในด้านต่าง ๆ เป็นต้น จากนั้นส่งข้อมูลให้ต้นสังกัดพิจารณา อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาจะต้องออกแบบการประเมินตนเองตามบริบทและแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาของตนเอง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีโจทย์และเป้าหมายต่างกัน ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวสำหรับทุกคนอย่างที่ผ่านมา การประเมินครั้งนี้จะไม่ใช่การจับผิดหรือลงไปตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการประเมินฉันท์มิตร โดย 3 ฝ่าย คือ ศธ. สมศ. และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะลงพื้นที่ไปทำการประเมินเพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียน” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ขณะนี้ได้มีการประกาศ พ.ร.ฎ. จัดตั้ง สมศ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำกับดูแล สมศ.จากเดิมที่อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแทน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปีพ.ศ.2559 ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำกับดูแลสมศ.เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาสอดคล้องกัน

เชื่อว่าจากนี้ ภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการประเมิน ทั้งการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน และการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก จาก สมศ. จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะการประเมินรูปแบบใหม่จะช่วยผลักดันให้สถานศึกษาพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าตามบริบทที่เหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง รวมถึงยังมีพี่เลี้ยงจากส่วนกลางเข้าไปช่วย หากมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เรียกว่า การประเมินแบบกัลยาณมิตร เชื่อว่า สถานศึกษาจะสามารถนำผลการประเมินทั้งภายนอกและภายใน ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างไม่หยุดนิ่ง

ความสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้ คือ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ที่ดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นตลอดมา ดังนั้น จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ถึงแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เป็นจุดเล็กที่นำไปสู่ก้าวใหม่ ขอให้กำลังใจทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image