ผ่า…กฎเหล็กศธ. คุมประพฤติเด็ก ‘ห้ามมั่วสุม-ชู้สาว’

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่า อาจไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา

ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แก้ไขสาระกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ที่ออกตามความในพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยยกเลิกความใน (6) (7) และ (9) ในข้อ 1.นักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ประพฤติตน ในกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 และใช้ข้อความใหม่แทน ดังนี้

(6) ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น รวมกลุ่ม มั่วสุม เตรียมการ หรือกระทำการใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
(7) แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมหรือการลามกอนาจาร
(9) ออกนอกสถานที่พักเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

จากข้อความเดิม กำหนดว่า
(6.)ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
(7.)แสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ
(9.)ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น

Advertisement

เท่ากับว่า (6.) เพิ่มเติมเรื่องห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (7.) แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เปลี่ยนเป็น ห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมเรื่องห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย และ(9) การออกนอกสถานที่พักเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เปลี่ยนมาเป็นห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก

สาเหตุที่ต้องเสนอร่างแก้ไขกฎกระทรวงฯ เนื่องจากกฎกระทรวงเดิมฯ ใช้มานาน ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลง จึงต้องปรับแก้เพื่ออุดช่องโหว่ให้ครอบคลุม ให้สถานศึกษาสามารถกำกับควบคุมดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่เหมาะสม ที่สำคัญเปิดทางให้สถานศึกษา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) และศูนย์เสมารักษ์ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ สามารถเข้าไปดูแลเฝ้าระวังไม่ให้นักเรียน นักศึกษากระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งเรื่องสถานที่และเวลา ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในที่ลับตาคน เช่น หอพัก ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

โดยศธ.ยืนยันว่าร่างกฎกระทรวงที่ปรับแก้สาระใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาเด็กยกพวกตีกัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เด็กแว้นและมั่วสุมเสพยา ไม่มีเจตนาสกัดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะมีคำสั่งคสช.ควบคุมดูแลอยู่แล้ว

Advertisement

ส่วนแนวทางการปฏิบัตินั้น เมื่อพบนักเรียนนักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสม พสน.และศูนย์เสมารักษ์ของศธจ.จะเข้าไปทักทายและแสดงตนพร้อมบัตรประจำตัวพนักงาน พร้อมทั้งซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำและบันทึกข้อมูลและพฤติการณ์การกระทำ หากไม่ร้ายแรงจะให้คำปรึกษา แนะนำอบรมสั่งสอน และช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนปล่อยตัว หากร้ายแรงจะแจ้งไปยังสถานศึกษาเพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป เช่นเดียวกับการตรวจในหอพัก เจ้าหน้าที่จะแสดงบัตรและขออนุญาตเจ้าของหอพัก หากได้รับอนุญาต จึงจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ หากพบว่า นักเรียนนักศึกษามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังโรงเรียนและผู้ปกครองตามลำดับให้ทราบถึงพฤติกรรมดังกล่าว

อย่างช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์เสมารักษ์ประจำสำนักงานศธจ. 54 แห่ง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยง 541 จุด พบพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพและวัย และได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้ ตรวจพบ/กล่าวตักเตือน 864 คน ตรวจพบ/เชิญผู้ปกครองมารับตัว 38 คน ความประพฤติไม่เหมาสมด้านเพศ 32 คน จับกลุ่มมั่วสุมและอื่นๆ 41 คน

ขณะที่สำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน มีข้อมูลล่าสุดระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2557 เกี่ยวกับนักเรียนและนักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสม 192 คน แยกเป็น หนีเรียนหรือออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต 141 คน ส่วนใหญ่อยู่ระดับม.ต้น 51.06%, ดื่มสุรา สูบบุหรี่ มั่วสุมยาเสพติด ก่อความเดือดร้อนรำคาญ 22 คน ส่วนใหญ่ระดับชั้นม.ปลาย 86.36%, ก่อเหตุทะเลาะวิวาท 13 ครั้ง เป็นเพศชายทั้งหมด กำลังศึกษาชั้นม.ปลายมากที่สุด 46.15%, เล่นเกม สนุ๊กเกอร์ 12 คน เป็นเพศชายทั้งหมด กำลังศึกษาชั้นม.ต้นมากที่สุด 58.33% และประพฤติตนในทำนองชู้สาว 4 คน เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย กำลังศึกษาชั้นม.ปลายทั้งหมด

ด้านนางกอบแก้ว แผนสท้าน ผู้ปกครองนักเรียนขั้นม.6 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการ เหมือนเป็นหูเป็นตาแทนผู้ปกครอง แต่ที่กังวลคือ เจ้าหน้าที่ที่จะมาดูแลเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่มั่นใจว่ากฎที่ออกมาจะดูแลได้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังกังวล เพราะเคยมีกรณีว่าเจ้าหน้าที่มีการข่มขู่นักเรียน ส่วนนี้ศธ.มีมาตรการในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่หรือไม่ แนวทางการแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษา มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น ควรเริ่มต้นที่ครอบครัว โรงเรียน เจ้าหน้าที่ดูแลความประพฤติ และสังคมควรมีส่วนร่วมดูแลเด็กๆ ด้วย

“สิ่งที่ควรระวัง คือ ทำอย่างไรไม่ให้เป็นการประจานเด็ก การไล่จับนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมาก เพราะกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีมาตั้งแต่ปี 2548 หากช่วยได้จริง ปัญหาเหล่านี้คงหมดไปนานแล้ว ทางแก้ที่ดีที่สุด คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว โรงเรียน ที่สำคัญคือสังคมต้องมาช่วยกันดูแลปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับเด็กๆ” นางกอบแก้ว กล่าว

น.ส.ภัทรภรณ์ พุ่มสวัสดิ์ หรือน้องจูน นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฎกระทรวงดังกล่าว คิดว่าจะช่วยดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่ทั้งหมด ขณะที่กฎบางข้อ เช่น ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม และห้ามออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น มีการตีความอย่างไร การรวมกลุ่มในลักษณะใดที่เรียกว่ามั่วสุม เป็นต้น ซึ่งถ้าพูดกันตามเหตุผล เห็นด้วยที่จะต้องมีกฎดูแลเพื่อป้องปราม แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดคือครอบครัว ที่จะต้อปลูกฝังดูแลบุตรหลาน

ขณะที่น.ส. สวรรยาก์ วสุรัตนานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เห็นคล้ายกันว่า น่าจะแก้ปัญหาได้บางส่วน แต่คงไม่ครอบคลุม และเป็นการออกกฎที่กว้างเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความ เช่น ห้ามรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จะตีความอย่างไรจึงจะเรียกว่า มีพฤติกรรมมั่วสุม ก่อให้เกิดความไม่สงบ การออกกฎดังกล่าว จึงดูเกินกว่าเหตุ ทำให้นักเรียน นักศึกษาถูกลิดรอนสิทธิ ส่วนถ้าถามว่า ระเบียบในการกำกับดูแลแบบใดจึงจะเหมาะสมและพอดี คงตอบไม่ได้ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“กฎนี้ ได้สอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น นักเรียน นักศึกษา ครู ผู้ปกครองและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนตัวอยากให้ทบทวนและสอบถามความความคิดเห็นก่อน อีกทั้งการแก้ปัญหานี้ ควรเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย ”น.ส.สวรรยาก์ กล่าว

กฎระเบียบที่ออกมาเป็นเพียงมาตรการเฝ้าระวังและปัองปราม ไม่ให้นักเรียนนักศึกษาประพฤติตนไม่เหมาะสม แต่ถ้าสถาบันหลักอย่างครอบครัวและสถานศึกษา สามารถปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าอะไรควร ไม่ควร ก็คงไม่จำเป็นต้องออกกฎใดๆ มาควบคุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image