‘หมอธี’ ยันกฎควบคุมประพฤติ ไม่ใช้กับนักศึกษา

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. … ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เสนอ ซึ่งนักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวคันค้านโดยมองว่าควบคุมเสรีภาพว่า กฎดังกล่าวปรับแก้ให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งบังคับใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ได้มีผลบังคับใช้กับนักศึกษา จึงไม่เข้าใจว่ากลุ่มที่ออกมาประท้วง ประท้วงทำไม เพราะเป้าหมายเพื่อดูแลนักเรียนได้ครอบคลุมขึ้น

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า กฎกระทรวงฉบับเดิมมีมาตั้งแต่ปี 2548 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการศธ. ซึ่งอาจไม่ทันกับสถานการณ์และพฤติกรรมของเด็กในปัจจุบัน จึงต้องปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยกฎกระทรวงฉบับใหม่ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เฉพาะกับนักเรียนนักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ไม่รวมนักศึกษาที่อายุเกิน 18 ปี โดยการยกร่างกฎกระทรวงใหม่นี้ ได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติแล้ว

“ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องเด็กแว้น เด็กตีกันและชู้สาวค่อนข้างมาก สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงใหม่มีเพียง 3 ข้อคือ 1.เพิ่มเติม คำว่า ‘รวมกลุ่ม มั่วสุม’ ในข้อ 6 ของกฎกระทรวงเดิม เป็นการเพิ่มเติมลักษณะพฤติกรรมต้องห้ามการรวมกลุ่มมั่วสุมที่น่าจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น การรวมกลุ่มขับรถซิ่งรถจักรยานยนต์ การรวมกลุ่มก่อเหตุทะเลาะวิวาท เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงการรวมกลุ่มของนักเรียนนักศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมทั่วไปหรือจัดกิจกรรมทางวิชาการสันทนาการในสถานศึกษา 2.แก้จากเดิมที่ห้ามการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ ในข้อ 7 เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ และเพิ่มคำว่าลามกอนาจาร ก็เอาไปด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มพฤติกรรมต้องห้าม คือ การลามกอนาจารโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการแสดงติกรรมในที่สาธารณะ เช่น การแสดงโชว์ที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัว การเผยแพร่ภาพถ่าย และหรือภาพวิดีโอผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการล้างรถอนาจารด้วย และ 3. ตัดคำว่า ‘เวลากลางคืน’ ในข้อ 9 จาก ห้ามออกนอกสถานที่พักในเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่หากนักเรียนนักศึกษาออกนอกสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมหรือกิจกรรมทางวิชาการสันทนาการนอกสถานศึกษาตามปกติ ก็สามารถทำได้” ปลัดศธ.กล่าว

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการรวมกลุ่มของนักเรียนนักศึกษาเพื่อแสดงออกหรือเพื่อใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองหรือด้านอื่นๆต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่อยู่ในขอบเขตของร่างกฎกระทรวงนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image