กอปศ.ชงแผนปฏิรูปศึกษาเข้า ครม. 4 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ว่า ที่ประชุมนำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้ประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม เสนอที่ประชุมรับทราบ ขณะนี้ได้นำร่างดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์ และเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าสามารถเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 4 กันยายน

นพ.จิรุตม์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมทบทวนแผนปฏิรูปที่มีสาระสำคัญ 6 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง 2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อยวัยเรียน 3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และ 6.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน แต่มีความคิดเห็นจากกรรมการหลายท่านอยากจะใช้คำว่าปฏิรูปบทบาท หน้าที่ และอำนาจของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มากกว่าการใช้คำว่าการปรับโครงสร้างของหน่วยงาน เพราะจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษามากกว่า

“วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายในการทำงานของ กอปศ.ที่ประชุมได้หารือถึงแผนการทำงานระยะเร่งด่วน ที่ กอปศ.อยากเร่งทำให้เสร็จ เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใน 6 ประเด็น คือ 1. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ต้องผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. … เป็นต้น 2.โรงเรียนต้องมีความเป็นอิสระ 3.การดำเนินการเรื่อง Digital Platform ต้องเสร็จให้ทันภายในกลางปี 2562 4.การผลิตและคัดกรองครู ต้องเป็นเกิดรูปธรรมขึ้นมา 5.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติว่าต้องมีคณะกรรมการชุดนี้เพื่อทำแผนการศึกษาของชาติ โดย กอปศ.จัดเตรียมโครงสร้าง ระเบียบ วิธีทำงาน ของคณะกรรมการชุดนี้ให้ทัน เพราะเมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติผ่านการเห็นชอบแล้ว คณะกรรมการนโยบายฯ เริ่มทำงานได้ทันที และ 6.เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ต้องจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับชั้นประถมศึกษาให้แล้วเสร็จในช่วงเวลานี้” นพ.จิรุฒน์ กล่าว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า แผนแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ช่วงที่ กอปศ.ยังทำงานอยู่ คือ 9 เดือน ระยะที่สอง ซึ่งเป็น Quick win 3 ปี ระยะที่สาม 5-10 ปี ทุกสิ่งที่เขียนไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะสมบรูณ์ภายใน 10 ปี และใน 6 เรื่องที่เป็นแผนการระยะเร่งด่วน จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า ต้องตรวจสอบ และมั่นใจในบางประเด็น เช่น การผลิตและคัดกรองครู ต้องมั่นใจว่าครูจะได้รับค่าตอบแทน ที่เหมาะสมกับความสามารถ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image