อุปนายกสภาพยาบาลวอนทบทวนร่าง พ.ร.บ.อุดมฯ แนะ 3 ฝ่ายต้องร่วมมือกัน

นางศิริอร สินธุ อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 เปิดเผยกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการรับรองหลักสูตรต่างๆ โดยให้สภาวิชาชีพมีหน้าที่เพียงแค่สอบประเมินบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพื่อรับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพเท่านั้น ซึ่งสภาวิชาชีพเกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมาตรฐาน และคุณภาพของบัณฑิตที่จะเข้าสู่วิชาชีพสาขาต่างๆ ว่า สภาวิชาชีพไม่ได้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เพราะเป็นสิ่งที่สภาวิชาชีพเองก็รอคอย เพียงแต่ขอให้ทบทวนมาตราที่กำหนดไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้สภาวิชาชีพกังวล

นางศิริอรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าสภาวิชาชีพไม่ได้บังคับให้มหาวิทยาลัยต้องทำตาม เช่น ในส่วนของสภาการพยาบาล เป็นลักษณะของการวางแนวทางการเรียนการสอน ว่าผู้ที่เรียนวิชาการพยาบาลควรจะต้องรู้เรื่องใดบ้าง แล้วควรเรียนวิชาอะไร อย่างไร เป็นการเตรียมความพร้อม เมื่อถึงเวลาสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จะได้ไม่ผิดหวัง ขณะที่การวางแนวทาง จะมีความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สภาการพยาบาล คณบดี และสภามหาวิทยาลัย เพื่อแนะนำแนวทางการเรียนการสอน และให้ความเห็นชอบร่วมกัน ฉะนั้น จึงไม่ใช่การก้าวล่วง

“สภาการพยาบาลเองกังวลว่า ถ้าให้เราประเมินที่ปลายน้ำ จะเกิดผลเสีย เพราะการผลิตพยาบาลต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เพราะเป็นการผลิตบุคลากรออกไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน ถ้าสถาบันการศึกษาไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราเองก็กังวลลึกๆ ถึงการทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนในอนาคต ที่สำคัญการเข้าไปประเมินตั้งแต่ต้นน้ำยังเป็นการคุ้มครองนักศึกษาที่มาเรียนว่าจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ จบแล้วมีงานทำแน่นอน เพราะหากปล่อยให้เรียนไปแล้ว 4 ปี แต่กลับสอบไม่ผ่าน จะเกิดผลเสียอย่างมาก อาจไม่สามารถทำงานได้ หรือถูกจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าวิชาชีพ รวมถึงอาจต้องไปทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ด้วย” นางศิริอรกล่าว

นางศิริอรกล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งที่กังวลคือขณะนี้มีสถาบันการศึกษากว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่จำนวนนักศึกษาน้องลง อาจทำให้มหาวิทยาลัยหาวิธีเชิญชวนเด็กเข้าเรียนด้วยวิธีการต่างๆ แต่การเรียนพยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และต้องทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้น กระบวนการผลิตจึงต้องมีมาตรฐาน สภาการพยาบาลไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่เรื่องสุขภาพของคนเราต้องมองให้รอบด้าน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image