‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ทอดน่องราชบุรี มึน ‘เขางู’ ใช้ข้อความจากจารึกปลอม ยันทางการแถลงชัดของเก๊! (คลิป)

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่รายการ ‘ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘เข้าถ้ำฤาษีที่เขางู อยู่ราชบุรี เมืองท่าการค้าโลก’ ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และยูทูปมติชนทีวี โดยมีผู้รับชมสดเป็นจำนวนมาก

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน กล่าวว่า การถ่ายทำรายการครั้งนี้ เริ่มต้นที่บริเวณหน้าเมืองราชบุรี ริมแม่น้ำแม่กลอง เนื่องจากต้องการเล่าถึงภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเกิดบ้านเมือง นอกจากนี้แม่น้ำแม่กลองยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงยกทัพไปรับศึกทางตะวันตก ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง ดังนั้น ทางจังหวัดราชบุรีควรทำป้ายเผยแพร่ข้อมูลโดยคัดบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวไว้บริเวณนี้เพื่อให้ชาวราชบุรีและผู้ที่เดินทางผ่านไปมาได้รับทราบด้วย สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน มีมนุษย์อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 3,000 ปี สืบต่อมาไม่ขาดสาย พบวัฒนธรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชื่อราชบุรี ตรงกับชื่อเมือง ‘ราชปุระ’ ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เชื่อว่าเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ เป็นนคราธิษฐานตามอุดมคติว่าเป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด มหาชน กล่าวว่า ตนเกิดที่ราชบุรี ที่นี่คือบ้าน พออายุได้ 1 ขวบบิดาสอบเป็นศึกษาธิการได้จึงย้ายเข้ากรุงเทพฯ พักอาศัยย่านบางขุนเทียน แต่ยังมาเยี่ยมบ้านเสมอ ตอนเด็กยังว่ายน้ำข้ามฝั่งแม่กลอง ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีเขื่อนอย่างในปัจจุบัน ในวัยหนุ่ม ตนและนายสุจิตต์ เคยปั่นจักรยานจากในตัวเมืองราชบุรีไปยังเมืองโบราณคูบัว ไปกลับ 15 กิโลเมตร กลับบ้านแล้วไม่สามารถนั่งได้ เนื่องจากเจ็บระบมมาก ยังจำจนถึงทุกวันนี้ โดยมาทราบภายหลังจากป้าของตนว่า หากใช้เส้นทางเลียบรางรถไฟซึ่งชาวบ้านใช้กัน จะมีระยะทางแค่ 3 กิโลเมตรเท่านั้น

จากนั้น นายสุจิตต์ และนายขรรค์ชัย ได้เดินทางไปยัง ‘วัดโขลงสุวรรณคีรี’ ภายในเมืองโบราณคูบัว โดยได้เดินชมโบราณสถานขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน และบันไดทางขึ้น

Advertisement

นายสุจิตต์ กล่าวว่า เมืองโบราณคูบัว กว้าง 850 ยาว 700 ม. คนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ปะปนนิกายหีนยาน รวมทั้งศาสนาผี กรมศิลปากรเริ่มสำรวจขุดค้นหลัง พ.ศ.2500 เป็นข่าวใหญ่ในนสพ.ช่วง พ.ศ.2503 หนึ่งในชิ้นที่ตนสนใจเป็นพิเศษตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีเช่นเดียวกับนายขรรค์ชัยคือปูนปั้นรูปนักดนตรีหญิง 5 คน ซึ่งสะท้อนภาพนักดนตรีของเจ้านาย ชนชั้นสูง นั่งพับเพียบ เป็นเอกลักษณ์การอ่อนน้อมถ่อมตัว ท่านั่งแบบนี้ไม่มีในอินเดียและจีน

จากนั้น นายสุจิตต์และนายขรรค์ชัย เดินทางต่อไปยัง ‘เขางู’ เพื่อสักการะพระพุทธรูปห้อยพระบาท มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตแปลได้ความว่า ‘พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ’

“หากมองจากถนนเพชรเกษม จะเห็นเทือกเขางูเป็นทิวยาวหินปูนรูปร่างคล้ายงู ชาวบ้านในอดีตเชื่อว่า เป็นที่สถิตย์ของงูใหญ่ รัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตเคยอนุมัติให้ระเบิดหิน โดยใน พ.ศ.2509 มีโรงโม่หินถึง 24 แห่ง ชาวบ้านเคารพนับถือเขางู จึงออกมาเดินขบวนต่อต้าน จนรัฐบาลยอมถอนสัมปทาน นอกจากนี้ ในอดีตเคยมีข่าวใหญ่เรื่องจารึกกระเบื้องจาร ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่าเป็นของปลอม แต่ป้ายหน้าเขางูในปัจจุบันกลับนำข้อความจากจารึกปลอมมาใช้ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้ ขอให้กรมศิลปากรช่วยแบ่งปันความรู้เสียใหม่” นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement

นสพ.สยามรัฐ 11 ตุลาคม 2509 ลงคำแถลงสำนักนายกรัฐมนตรีว่าจารึกกระเบื้องจารคูบัวเป็นของปลอม แต่เขางูยังใช้ข้อความจากจารึกเผยแพร่บนแผ่นป้ายหน้าทางขึ้นเขา

Live รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวตอน “เข้าถ้ำฤาษีที่เขางู อยู่ราชบุรี เมืองท่าการค้าโลก”วันอังคารที่ 28 สิงหาคม เวลา 14.00 น.ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล1.สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองคูบัวมีชื่อว่าอะไร?2.อยากให้คุณขรรค์ชัย-สุจิตต์ ไปทอดน่องท่องเที่ยวที่ไหน?

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2018

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image