11 สภาวิชาชีพตีปี๊บค้านพ.ร.บ.การอุดมฯ วอนรัฐสนใจฟังเสียง (คลิป)

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กรมประชาสัมพันธ์ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย แถลงข่าว(ร่าง) พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ….ผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย โดยมีสภาวิชาชีพ 11 วิชาชีพร่วมแถลง  โดยนายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพ เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ… แต่มีความห่วงใยในบางมาตราที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน และตัวนักศึกษาโดยตรง  โดยเฉพาะมาตรา 64 ที่ให้สภาวิชาชีพมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นประกอบการจัดทำหลักสูตร แต่มิได้ให้อำนาจในการรับรองหรือกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน  หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา มาตรา 65  สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้ มาตรา66  ในกรณีที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาเห็นว่าสภาวิชาชีพใดฝ่าฝืนมาตรา 64 ให้แจ้งให้สภาวิชาชีพทราบ และให้สภาวิชาชีพปฏิบัติตามนั้น  และมาตรา 48 สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา

นายทัศไนย กล่าวต่อว่า ทั้ง 4 มาตรา จะเป็นการทำลายระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ในวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อสังคม  ทั้งนี้สภาวิชาชีพได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอเข้าพบหารือและเสนอแนะเกี่ยวกับเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบในการเข้าพบ  ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้ดำเนินการชี้แจงถึงผลกระทบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดแต่ไม่ได้รับความสนใจ  จากนี้หวังว่ากฤษฎีกาจะให้สภาวิชาชีพเข้าไปชี้แจง

ทพ.ไพศาล  กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา  กล่าวว่า ทั้ง 4มาตราเป็นประเด็นที่จะสร้างปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพราะสภาวิชาชีพทั้ง 11 กลุ่มมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน  การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ หมายถึงการประกันคุณภาพการศึกษาและการคุ้มครองประชาชน  ผลกระทบจากมาตรา 64 ,65 และ66 ที่ไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร ส่งผลกระทบอย่างหนักคือ  คือ มาตรฐานวิชาชีพจะตกต่ำ เราจะเป็นต้องเข้าไปดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ  ทางการแพทย์ถ้าดูปลายน้ำอย่างเดียวจะลำบาก เพราะในการเรียนมีราละเอียด ที่จำเป็นต้องกำหนดว่า ต้องเรียนวิชาใด ใช้เครื่องมือใดในการเรียนการสอน รวมถึงกำหนดจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ซึ่งถ้าไม่ดูตั้งแต่ต้นน้ำ แล้วมาจัดสอบทีเดียว จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและประชาชนผู้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพต่ำลง

“การรับรองหลักสูตรเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่มารับการศึกษา โดยเฉพาะขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาจำนวนมาก  ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ต้องคำนึงถึงกำไร ขาดทุน ถ้าเราไม่ดูแลหลักสูตร จะมีความมั่นใจได้อย่างไร ว่าเด็กเรียนจบแล้วจะสามารถสอบใบอนุญาตฯ ผ่านได้  ถือเป็นความสูญเสีย โดยการเรียนทันตแพทย์  ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 1 ล้านบาท  เรียน 6 ปี เป็นเงิน 6 ล้านบาท  อีกประเด็นที่ห่วงคือ อีกหน่อยหมอเถื่อนจะเต็มเมือง อย่างเช่นในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีมาแล้ว เพราะคนที่สอบใบอนุญาตฯ ไม่ผ่านจะไม่มีทางยอมตกงาน ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในประเทศไทย“ทพ.ไพศาล  กล่าว

Advertisement

นพ.เกรียง  อัศวรุ่งนิรันดร์  รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า  การให้สภาวิชาชีพสอบเพื่อรับใบอนุญาตฯ จะมีทั้งผู้สอบผ่าน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สภาวิชาชีพก็ยินดี  แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน เชื่อว่าทุกคนคงไม่ยอมอดตาย และหมอเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน อันตรายจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้รับบริการทางการแพทย์  การทำงานด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ถ้าไม่ได้มาตรฐานจะเกิดผลกระทบกับประชาชนแน่นอน

นางศิริอร  สินธุ อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 1 กล่าวว่า  ปัจจุบันสภาการพยาบาลดูแลนักศึกษา 210,000 คนใน 86 สถาบัน  ขณะที่แต่ละปีมีผู้จบการศึกษาปีละ 12,000 คน  ซึ่งสถาบันที่มีคุณภาพสูงผ่านเกณฑ์การเข้าไปรับรองหลักสูตรของสภาการพยาบาล มีผู้สอบได้ประมาณ 80-100%  แต่กลุ่มสถาบันเปิดใหม่ การสอบใบประกอบวิชาชีพ สอบผ่านเพียง 10%หรือต่ำกว่า 10%  นักศึกษาเหล่านี้ก่อนสอบใบรับรองได้จะถูกจ้างงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เป็นการสูญเสียบุคลากร ดังนั้น ถ้าไม่มีการปรับร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.. จะทำให้สถาบันมีอิสระในการเปิดรับพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ค่าเฉลี่ยของนักศึกษาพยาบาลที่สอบใบอนุญาตฯได้ จะต้องลดลงอย่างแน่นอน  ที่สำคัญการเรียนพยาบาลเป็นการศึกษาภาคปฏิบัติ ที่ต้องดูแลคนหากไม่มีการรับรอง อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพเรียกรองมาตลอด แต่ภาครัฐไม่สนใจ การออกมาครั้งนี้ จึงต้องการเรียกร้องและเป็นการฟ้องประชาชนหากไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปช่วยดูแลจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและบุตรหลานที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่อาจจะมีคุณภาพ

นายกมล  ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร มีหน้าที่ในการกำกับควบคุมเรื่องความปลอดภัยที่เกิดจากการก่อสร้างให้กับประชาชน ปัจจุบันเรามีสมาชิก ที่เป็นนิติบุคคลประมาณ 1 พันเศษ และสมาชิกที่เป็นบุคคลประมาณ 2 แสนราย  มาตราที่เรากังวลมากที่ สุดคือ มาตรา48 ที่กำหนดให้สถาบันศึกษามีหน้าที่บริการทางวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งเราขอคัดค้านและขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุไว้ในมาตรา 48 ออกทั้งหมด  เพราะการให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา  และในทางปฏิบัติหากยังคงคำว่า วิชาชีพ ไว้ในมาตรา 48 เมื่อใดที่สถาบันการศึกษาไปให้บริการ หรือให้คำปรึกษางานทางวิชาการที่เข้าข่ายการทำสัญญารับงาน โดยมิได้มีใบอนุญาตฯประกอบวิชาชีพนั้น ๆ จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และจะมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายของสภาวิชาชีพนั้น ๆ เช่น สภาวิชาชีพบัญชี สภาทนายความ สภาสถาปนิก และสภาวิศวกร

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image