อาชีวะชวนอ่าน ‘ใต้ปีกรัก-วางหัวใจไว้บนก้อนดิน’ ปรับภาพลักษณ์เด็กช่าง แจก’อาชีวะ-ร.ร.’ ทั่วปท.

เมื่อวันที่ 20 เมษายน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้จัดพิมพ์นวนิยายจำนวน 2 เล่ม ได้แก่ “ใต้ปีกรัก” เขียนโดย คณิตยา และ “วางหัวใจไว้บนก้อนดิน” เขียนโดย พิมพิสุธญ์ ซึ่งเป็นนิยายรัก แต่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็กอาชีวศึกษา โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมาตนได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ โดยนายกฯ บอกว่าจะลองกลับไปอ่าน และส่วนตัวได้อ่านเบื้องต้น ก็เห็นว่าพล็อตเรื่องน่าสนใจ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่สอศ.จัดพิมพ์นวนิยายนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนอาชีวศึกษา รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการรีแบรนดิ้งภาพลักษณ์อาชีวะครั้งใหญ่ ซึ่งต้องทำต่อเนื่องและต้องทำในหลากหลายรูปแบบ

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สาเหตุที่จัดทำนวนิยายทั้ง 2 เล่มนี้ เพราะกลุ่มเป้าหมายของอาชีวศึกษาคือ เด็กในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเด็กวัยนี้สนใจและชื่นชอบเรื่องของละครและนวนิยาย ฉะนั้นจึงได้หารือและเห็นร่วมกันว่าจะจัดทำนวนิยายที่เกี่ยวกับอาชีวศึกษา เพื่อทำให้เด็กเกิดความเข้าใจและเกิดความรู้สึกชอบ โดยสอศ.ได้ขอให้นักเขียนที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและมีประสบการณ์ในการเขียนมาเขียนให้ จนได้นวนิยาย 2 เรื่อง เบื้องต้นถ่ายทอดเนื้อหาใน 2 สาขา คือ สาขาเกษตรกรรม ผ่านเรื่อง “วางหัวใจไว้บนก้อนดิน” ซึ่งถือเป็นสาขาที่จำเป็นของประเทศแต่มีผู้เรียนน้อยมาก จึงต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ และสาขาอุตสาหกรรม ผ่านเรื่อง “ใต้ปีกรัก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแนวใหม่ เกี่ยวกับเรื่องอากาศยานไร้คนขับ เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ

นิยาย1

“ได้วางพล็อตว่าเด็กที่อ่านจะต้องได้รับทั้งสาระความรู้และความสนุก ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ออกแบบและพิมพ์ โดยแผนกวิชาการพิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี จัดพิมพ์ 15,000 เล่ม โดยไม่ได้จำหน่าย แต่จะส่งมอบให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในสังกัด สอศ.และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ ประมาณ 900 เล่ม โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส ประมาณ 8-9 พันแห่ง และห้องสมุดประชาชนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 911 แห่ง รวมถึงภาคเอกชนที่ร่วมมือในโครงการประชารัฐ” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

Advertisement

พิมพิสุธญ์ เจ้าของบทประพันธ์ “วางหัวใจไว้บนก้อนดิน” กล่าวว่า ตนเป็นศิษย์เก่าอาชีวศึกษาคนหนึ่ง จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นนักเขียนในโครงการนี้ สอศ.เปิดโอกาสให้นักเขียนเป็นผู้เลือกสาขาวิชาที่ต้องการเขียน ผู้เขียนเลือกสาขาเกษตรกรรม จากนั้นเริ่มวางพล็อตและศึกษาหาข้อมูลไปพร้อมๆ กัน หลังได้ข้อมูลทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ บทความ รวมถึงการสัมภาษณ์ครูบาอาจารย์หลายท่านที่คร่ำหวอดสอนลูกศิษย์อยู่ในสถาบันทางด้านเกษตรกรรมแล้ว ก็ยิ่งมั่นใจว่าตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องแล้ว เพราะจากข้อมูลที่ค้นหาและการพูดคุยสัมภาษณ์นั้น ย้ำชัดว่าวิชาชีพด้านเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อคนไทยทุกคน เพราะไม่ว่าใครจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ต้องบริโภคข้าวปลาอาหารซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ขั้นตอนการผลิตอาหารเพื่อป้อนให้กับคนทั้งประเทศอย่างมีคุณภาพและเพียงพอนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ปกวางหัวใจใหม่

คณิตยา เจ้าของบทประพันธ์ “ใต้ปีกรัก” กล่าวว่า โจทย์ที่ได้จากอาชีวะคือ การสร้างแรงจูงใจให้เด็กมัธยมมาเรียนอาชีวะเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ เลยค้นหาประวัติของเด็กอาชีวะ/เด็กช่าง ที่มีตัวตนจริงๆ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาผูกเป็นเรื่อง คิดว่าการนำชีวิตจริงมาผูกเป็นเรื่อง จะทำให้เด็กและผู้ปกครองเห็นภาพชัดเจนว่าเรียนอาชีวะแล้วจะมีลู่ทางในการประกอบอาชีพอย่างไร โดยเรื่องนี้ใช้ประวัติจริงของนายกษมา ถาวร ผู้จัดการบริษัทกษมา เฮลิคอปเตอร์ จำกัด ผู้พัฒนาเฮลิคอปเตอร์บังคับต้นแบบสัญชาติไทยและเป็นคนไทยคนแรกในอาเซียนที่ผลิตเฮลิคอปเตอร์บังคับแบบครบวงจร ปัจจุบันนายกษมาได้วิจัยและผลิตอากาศยานไร้นักบินขึ้นลงทางดิ่ง ( VTOL-UAV) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(สทป.) กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ สำเร็จแล้ว ซึ่งนายกษมา เป็นลูกชาวนา จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ)

Advertisement

ปก ใต้ปีกรัก 3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image