เครือข่ายเยาวชนฯ บุก ศธ.จี้ รมต.สร้างภูมิคุ้มกัน ‘พนัน-เหล้า-ท้องไม่พร้อม’ (คลิป)

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 กันยายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ นำโดยนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน นายชยุต พ่วงมหา เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และคณะกว่า 30 คน พร้อมป้าย “อย่าซุกไว้ใต้พรม ปัญหาเด็ก เยาวชน ต้องร่วมแก้”, “วิชาชีวิตคือทางรอด ศธ.ต้องจริงจัง” และ “วอน ศธ.ปกป้องเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง” ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อเรียกร้องเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ โดยมีนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัด ศธ.รับเรื่องแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ทั้งนี้ เครือข่ายได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปัญหาเด็กเยาวชน ที่ถูกซุกไว้ใต้พรหม” เพื่อสะท้อนตัวอย่างที่ตามมากับระบบแพ้คัดออกของการศึกษาไทย พร้อมทั้งนำอดีตนักเรียนที่เคยก้าวพลาด แล้วถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน มาร่วมสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นด้วย

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด ติดเกมติดมือถือ รวมถึง ท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ เด็กและเยาวชนเล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึง มีเด็ก และเยาวชนไทยเสียชีวิต เพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510 ราย ขณะเดียวกัน ในวัยนี้เด็กไทยต่ำกว่าอายุ15-24 ปี ติดบุหรี่กว่า 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมาก ด้วยระบบแพ้คัดออก ลอยแพเด็กหลังห้อง ระบบการประเมินผลที่ทำให้เกิดการซุกขยะไว้ใต้พรหม ไม่กล้านำความจริง นำปัญหามาพูดกันเพราะกลัวกระทบกับภาพลักษณ์สถาบัน

Advertisement

“จากข้อกังวลเหล่านี้ เครือข่ายเด็กฯ มีข้อเสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2561 เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.ขอให้ ศธ.นำแนวคิดเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งพัฒนา และรวบรวมโดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต เป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเมื่อต้องเผชิญกับความจริงในสังคม 2.ขอให้ ศธ.ให้ความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้โรงเรียนดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และ 3.ขอให้ ศธ.ปฏิรูปฝ่ายแนะแนวของทุกสถาบันการศึกษาให้ทำงานเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาปัจจัยทางสังคมที่ชักนำ ล่อลวง เด็กและเยาวชนให้ตกหลุมพลาง มีการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร ไม่ซ้ำเติม และเป็นที่ไว้วางใจของเด็กและเยาวชน โดยอาจมีการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ” นายณัฐพงศ์ กล่าว

นายชยุต กล่าวว่า ปัจจุบันวัยรุ่นที่พลาดพลั้งเกี่ยวกับเรื่องเพศมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึง เด็กที่ต้องออกโรงเรียนกลางคันมีสูงกว่า 1 แสนคนต่อปี คำถามคือนักเรียนต่ำกว่า 15 ปี ควรต้องอยู่ในระบบการศึกษา แต่ทำไมนักเรียนกลุ่มนี้ต้องออกมา และส่วนใหญ่เรียนต่อที่ กศน.จำนวนมาก นั่นแปลว่ามีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากโรงเรียน และโรงเรียนไม่ได้รับผิดชอบถึงจุดสูงสุด โดยไม่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนจนจบ แต่กลับปัดปัญหาผลักดันนักเรียนออกมา

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าทางโรงเรียนไม่มีระบบการช่วยเหลือ จะให้ออกอย่างเดียว มุ่งเน้นรักษาภาพลักษณ์สถาบัน ห่วงผลประเมินหากพบว่าเด็กมีปัญหา เมื่อหลักสูตรทุกอย่างต้องผ่าน ศธ.ดังนั้น ศธ.ควรต้องเป็นที่พึ่ง เป็นโค้ชให้เด็กและเยาวชน ควรทำระบบการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีวิชาเพศศึกษา วิชาชีวิต เข้าไปอยู่ในหลักสูตร และต้องมีในคาบเรียนเกิน 16 คาบต่อปี อีกทั้ง ครูแนะแนวต้องมีความรู้ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร สร้างระบบ สร้างสิทธิให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนด้วย จึงอยากสนับสนุนให้ ศธ.เร่งนำองค์ความรู้เรื่องวิชาชีวิต ของบ้านกาญจนาฯ มาประยุกต์ต่อยอด เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตให้เด็กและเยาวชนต่อไป” นายชยุต กล่าว

Advertisement

นางวัฒนาพร กล่าวว่า นพ.ธีระเกียรติมอบหมายให้ตนรับเรื่องแทน ขอขอบคุณผู้แทนองค์กร และเครือข่ายเยาวชนฯ ออกมา แสดงออกถึงความห่วงใยเยาวชนของประเทศ โดยเฉพาะความห่วงใยเรื่องของปัญหาอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด ติดเกมติดมือถือ รวมถึง ท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องติดเกมส์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ภารกิจสำคัญของ ศธ.มีภารกิจที่ดูแลเยาวชน ที่ผ่านมามีความพยายาม มีประกาศ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษา ดำเนินการหลายเรื่อง แต่ต้องยอมรับว่า ศธ.มีโรงเรียนในสังกัดอยู่จำนวนมาก ประกาศบางอย่างอาจไม่ทั่วถึง หรือล่าช้า ดังนั้น การที่มีเครือข่ายต่างๆ เข้ามากระตุ้นส่งเสริมตรงนี้ จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และเร็วขึ้น โดยเฉพาะ 3 ข้อที่เสนอมาวันนี้ ศธ.ยินดีจะรับ

“เรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในเรื่องยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียลมีเดีย นั้น ศธ.พยายามรณรงค์ดูแลให้ชัดเจนทุกภาคส่วน ขณะนี้มีการตั้งศูนย์อำนวยการในระดับโรงเรียนแล้ว ก็จะลงไปขับเคลื่อนในเรื่องยาเสพติด จะทำให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ ส่วนเรื่องแนะแนว ก่อนนี้ ศธ.มีครูแนะแนว แต่ระยะหลังมีครูแนะแนวน้อยลง อาจจะเกี่ยวกับจำนวนครูที่ลดลง แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลช่วยเหลือนักเรียน ก็จะนำข้อเสนอของเยาวชนนี้ไปผนวกเพื่อทำให้ชัดเจนมากขึ้น” นางวัฒนาพร กล่าว

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ยินดีรับคำเเนะนำที่เสนอมา อย่างการปฏิรูปครูเเนะเเนว ศธ.ได้ทำอย่างต่อเนื่อง เเต่อาจยังไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น เเละในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ เด็กในยุคปัจจุบันต้องก้าวทันยุคดิจิทัล เเละกระเเสโลกที่มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็ว จึงฝากว่าควรคิดวิเคราะห์ เเยกเเยะ มีสติในการรับข้อมูลให้มาก และอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image