มข.จัดแลกเปลี่ยนโครงการตามแนวพระราชดำริ หวังชุมชนขยายผล

ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มข.ได้จัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำเสนอผลงาน และประสบการณ์ในงานพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยผ่านคำบอกเล่าของตัวแทนกลุ่ม องค์กร ชาวบ้าน และเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของศูนย์ประสานงานโครงการฯ อันจะทำให้เกิดกลไกขยายงานต่อไป ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดจากการยกระดับกลุ่มองค์กรสู่วิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ในส่วนโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ได้ดำเนินงานในพื้นที่ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย และโรงเรียนในพระราชดำริ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในรัศมีประมาณ 100-200 กิโลเมตรจาก มข.โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าโครงการจะเป็นเชิงพัฒนา แต่ในการดำเนินงานได้ประยุกต์ใช้หลักการของการวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นแหล่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องจาก มข.

ผศ.ดร.เพ็ญประภากล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงาน จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา 5 ประเด็น คือ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ การพัฒนาการเกษตร การบริหารจัดการกลุ่มองค์กรชุมชน ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ซึ่งมีตัวอย่างโครงการที่สำเร็จ และภูมิใจ อาทิ การพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยการมีส่วนร่วม ใช้หลักการอนุรักษ์ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับภูมิสังคมในลักษณะวงจรการเรียนรู้ในรอบ 1 ปี 4 กิจกรรม ทำแนวกันไฟ ซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้ และไฟป่า และกิจกรรมสร้างจิตสำนึก เกิดการต่อยอดเป็นคณะทำงานกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า และได้รับพระราชทานผ้าพันคอ “พิทักษ์ป่า รักษาชีวิต” ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ไฟป่าลดน้อยลง เป็นแหล่งอาหารและแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มข.กล่าวว่า สำหรับโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่ มข.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น้อมนำแนวพระราชดำริมาค้นคว้า ประยุกต์ใช้ มข.คาดหวังว่าจะพัฒนาชุมชนต้นแบบ 2-3 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา จะเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้ได้รับประสบการณ์จริงจากพื้นที่ และในขณะเดียวกันก็หวังที่จะเห็นผลจากการที่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนต้นแบบมีการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง การดำเนินงานนั้น กระทำโดย มข.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกับราษฎร และองค์กรในพื้นที่ เพราะการพัฒนาต้องมองทุกมิติไปพร้อมกัน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มองในเรื่องของบูรณาการ ในเรื่องของการร่วมมือกันทำ อันเป็นการพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image