บัญญัติ 10 ประการ วิธีใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย

ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพย่อมเริ่มต้นจากการทุ่มเทดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย เพราะช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่เด็กรู้จักคิด สงสัย สังเกต และตั้งคำถาม ซึ่งหากได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านจะช่วยสร้างรากฐานกระบวนการเรียนรู้อย่างรวดเร็วให้กับช่วงวัยต่อไปของชีวิต จึงอาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในช่วงเด็กปฐมวัยให้ผลคุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ สอดคล้องกับผลการวิจัยของศาสตราจารย์ James J. Heckman แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ยืนยันได้ว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะให้ผลตอบแทนในอนาคตมากถึง 7 เท่า จากการที่สมองเด็กจะเติบโตสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งอารมณ์ (อีคิว) และสติปัญญา (ไอคิว) นำไปสู่การมีผลการเรียนที่ดีขึ้น รายได้ที่สูงขึ้น มีสุขภาวะที่ดี

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) จับมือกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย จัดทำโครงการปรับปรุงเอกสารสมรรถนะของเด็กปฐมวัย มุ่งหวังใช้เป็นคู่มือสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และผู้ดูแลเด็ก ในการสังเกตพฤติกรรมทางด้านพัฒนาการของเด็กว่าอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มวัยเดียวกัน รวมทั้งเผยแพร่เอกสารแนวแนะ (Guideline) วิธีการเลี้ยงดู เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ปกครองใช้ส่งเสริมเด็กให้เกิดการเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดสมรรถนะ หรือการทำได้ (Can Do) อย่างสมวัย

สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจร่วมกัน คือ สมรรถนะไม่ได้ใช้เพื่อประเมินว่าเด็กสอบได้หรือสอบตก แต่เป็นแนวทางสังเกตคุณภาพการเรียนรู้ที่เกิดกับตัวเด็ก ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และครูอาจารย์จึงควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการอบรมสั่งสอนที่ช่วยหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองสามารถสร้างสมรรถนะพร้อมกับปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยอันพึงประสงค์ผ่านการใช้ท่าทาง วาจา และการแสดงอารมณ์ รวมถึงการใช้ “หนังสือ” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในทุกยุคทุกสมัยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

Advertisement

ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยมที่เต็มไปด้วยอบายมุข การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงสื่อหลายช่องทางที่สร้างค่านิยมผิด ๆ อาจารย์เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป อนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ของ ก.พ.ป. ยืนยันว่า “หนังสือ คือ ทางเลือกที่พาให้เด็กๆ รอดพ้นจากภาวะวิกฤตทางสังคม” โดยแนะนำให้ผู้ปกครองและครูอาจารย์ใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้บัญญัติทั้ง 10 ประการ คือ “ดู  ฟัง ท่อง ร้อง เล่น ลิ้ม  เล่า อ่าน เขียน และทำ” 1. ดู  หนังสือเป็นต้นทางให้เด็กได้ดูภาพที่เจริญหูเจริญตา มีเนื้อหาสาระและภาพวาดที่เหมาะสมสำหรับเด็ก สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่ และครู ต้องสอนให้เด็กอ่านหนังสืออย่างใจเย็น และมีความมั่นคงทางอารมณ์  2. ฟัง  หนังสือเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็ก และเพลงนิทานทำให้เด็กได้รับฟังเรื่องเล่าและคติสอนใจผ่านเสียงเพลงที่ไพเราะและอ่อนโยน 3. ท่อง  หนังสือที่มีคำคล้องจอง เช่น จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ช่วยสร้างสมรรถนะด้านภาษาให้แก่เด็ก พ่อแม่ และครู ควรเพิ่มการปรบมือเข้าจังหวะ โดยให้เด็กได้ท่องคำคล้องจองทุกวันก่อนกลับบ้าน 4. ร้อง  หนังสือเด็กมักแทรกเพลงประกอบเรื่องเล่า การร้องเพลงช่วยให้เด็กเรียนรู้จังหวะและหัดทำท่าทางประกอบ อีกทั้งยังช่วยสร้างวินัยให้เด็ก เช่น เมื่อพ่อแม่ และครู ร้องเพลงกล่อมนั่นหมายถึงเวลาเข้านอน 5.เล่น  หนังสือเล่นได้ เป็นหนังสือที่สอดแทรกกิจกรรมและการละเล่น เช่นการเล่นจ้ำจี้ในเพลงจ้ำจี้ผลไม้ ซึ่งสร้างความสนุกสนานและช่วยฝึกสมาธิให้เด็กๆ 6. ลิ้ม  หนังสือเป็นต้นทางการสอนเรื่องสุขภาวะและการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พ่อแม่ และครู สามารถนำเนื้อหาในหนังสือนิทานมาสอน เรื่อง การกินดีอยู่ดีโดยเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็กได้ 7. เล่า  นิทานเรื่องเล่ามีเค้าโครงที่ผู้ปกครองสามารถใช้น้ำเสียงการเล่าในแบบของตนเอง เพื่อสร้างการจดจำและความน่าสนใจให้เด็กๆ 8. อ่าน  การอ่านหนังสือช่วยสร้างความใกล้ชิดพร้อมฝึกสมาธิขั้นสูงให้แก่เด็ก เริ่มจากผู้ปกครองต้องช่วยคัดเลือกหนังสือ และมีเวลาให้เด็กซักถามข้อสงสัย รวมถึงควรสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่มีสิ่งเร้าความสนใจอื่น เพื่อให้เด็กได้เพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือได้อย่างต่อเนื่อง 9. เขียน  หนังสือเป็นสื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตัวอักษรและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากฝึกเขียน เด็กส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการด้านการเขียนในช่วง 3 – 4 ปี เริ่มจากการเขียนอักษร ก – ฮ ซึ่งผู้สอนควรใช้หนังสือเปรียบเทียบรูปภาพกับอักษรไทยก่อนต่อยอดไปสู่หนังสือฝึกเขียนรูปแบบอื่นๆ และ 10.ทำ  หนังสือสอนการปฏิบัติมีหลายด้าน อาทิ การทำขนม การเก็บออม และกิจวัตรประจำวัน ช่วยให้เด็กได้ฝึกลงมือทำซ้ำๆ จนเป็นนิสัย และเป็นการปลูกฝังวินัยในระยะยาว

Advertisement

“พ่อแม่ยุคใหม่ต้องไม่มองว่า การส่งลูกเข้าโรงเรียนเป็นการมอบหน้าที่อบรมสั่งสอนให้เป็นภาระของครู ความคิดเช่นนั้นจะทำให้ท่านมีเวลาอ่านหนังสือกับลูกน้อยลง ดังนั้นพ่อแม่ควรตระหนักว่า หนังสือเป็นต้นทางของการสร้างสมรรถนะและเป็นสะพานแห่งความรู้ที่ช่วยถักทอความรักสู่เด็กได้ บทบัญญัติทั้ง 10 ประการนี้ ต้องเริ่มใช้ตั้งแต่การสอนให้เด็กรู้จักทะนุถนอมหนังสือ ค่อยๆ สอนเด็กด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน แม้ว่าบางครั้งเด็กอาจงอแงและฉีกหนังสือเล่น ก็ควรใจเย็นและระลึกอยู่เสมอว่าหนังสือขาดไม่เป็นไร แต่อย่าให้ใจของเด็กขาด” อาจารย์
เรืองศักดิ์ กล่าว

สำหรับผู้สนใจหนังสือแนวแนะวิธีการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยตามสมรรถนะ เอกสารเพื่อการสังเกตและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ สามารถดาวน์โหลดและติดตามข่าวสารการขับเคลื่อนนโยบายเด็กปฐมวัยได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา www.onec.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image