ชี้ ก.พ.อ.หนุนอาจารย์ทำวิจัยขอ ‘ศ.’ ผลเสียเพียบ เหตุมุ่งเงินประจำตำแหน่งมากกว่าคุณภาพ น.ศ.

เมื่อวันที่ 27 กันยายน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีปัญหาค่อนข้างมาก ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา จะเห็นว่าผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้มีนโยบายใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหา หรือมีแต่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ที่พยายามบังคับให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นเหมือนกันหมด โดยใช้มาตรการเดียวกัน และกฎหมายที่ออกมาก็เป็นอุปสรรค เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว นอกจากนี้ มาตรการที่ส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มากขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งเป็นผลเสีย เพราะทุกคนมุ่งทำงานวิจัยพื้นฐานเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ เนื่องจากกฎเกณฑ์เป็นเช่นนั้น แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ควรศึกษาในเชิงลึกว่าการให้อาจารย์ทำวิจัยมากๆ มีผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่

“งานหลักๆ ของมหาวิทยาลัยมี 4 อย่าง คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่วันนี้มีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์ทำวิจัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภารกิจอีก 3 ด้าน ลดน้อยลงหรือไม่ ความตั้งใจที่จะสอนหนังสือของอาจารย์ลดน้อยลงหรือไม่ เพราะตำแหน่งวิชาการจะมีเงินประจำตำแหน่ง ทำให้อาจารย์เน้นให้น้ำหนักในส่วนงานวิจัยพื้นฐานค่อนข้างสูง ดังนั้น ก.พ.อ.ควรศึกษาว่า ศ., รศ.และ ผศ.เป็นตัวกำหนดคุณภาพของอาจารย์ และทำให้คุณภาพของนักศึกษาเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือคาดหวังว่าเมื่อตำแหน่งทางวิชาการเพิ่ม คุณภาพทางวิชาการ และบัณฑิตจะเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การจะส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้สำเร็จ รัฐบาลต้องส่งเสริมทุกระดับ เริ่มจากนักเรียน และนักศึกษาให้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ และระดับอุดมศึกษา จำเป็นต้องพัฒนาอาจารย์ให้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ควบคู่กับการสร้างจิตวิญญาณด้านการเรียนการสอน ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษามีคุณภาพ

“เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.โยนคำถามให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่าถ้าเด็กที่จบสายสังคมศาสตร์ จะเพิ่มทักษะการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างไร ซึ่งเด็กที่เรียนสายสังคมไม่ได้ถูกอบรมให้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ต้น และบางคนอาจหนีวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ ฉะนั้น จะเอาเด็กเหล่านี้มาทำให้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คงยาก แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทำคืออยากให้สำรวจว่าเด็กที่จบสายสังคมค้นพบตัวเองหรือยังว่าต้องการมีอาชีพอะไร หรือจะเป็นอะไรในอนาคต และถ้ารัฐอยากอุ้มชูจริงๆ ต้องจัดอบรมอาชีพให้ เพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เขาเป็นอัจฉริยะ ซึ่ง มฟล.ได้เตรียมเริ่มโครงการที่จะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร หรือเมื่อเรียนไปแล้ว ถ้าพบว่าไม่ชอบ ก็ให้เปลี่ยนสาขาวิชาที่เรียนได้” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image