‘วันชัย’ หนุนเกิน 60 ปีนั่งอธิการบดี แต่ต้องดูสติปัญญา-ความรู้ ชี้เกิดปัญหาเพราะไม่มีใครยอมใคร (คลิป)

เมื่อวันที่ 27 กันยายน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอายุของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ที่ พ.ร.บ.กลางกำหนดให้ผู้มีอายุไม่เกิน 60 ปีเป็นอธิการบดีได้นั้น เรื่องอายุของผู้ที่จะเป็นอธิการบดีต้องรอบคอบว่าจะเอาอายุ หรือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ ถ้าอายุน้อยแต่มีความสามารถ ก็ควรจะเปิดโอกาส แต่ถ้าอายุน้อย และไม่เหมาะที่จะบริหาร อาจจะเกิดผลเสียกับมหาวิทยาลัยมากกว่า ก็ควรเปิดโอกาสที่มีความรู้ความสามารถแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปบริหารได้ เพราะการบริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตำแหน่งอธิการบดี ต้องดูความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม และประโยชน์เป็นสำคัญ

“ถ้ากฎหมายกำหนดไว้ว่าข้าราชการเกษียณ คืออายุ 60 ปี ก็ต้องไปดูอีกว่าอธิการบดีจะมีวาระกี่ปี ไม่ใช่ตำแหน่งไปตามอายุราชการ ฉะนั้น ถ้าอธิการบดีมีวาระ 4 ปี ตอนเป็นอธิการบดีอายุ 58 ปี จะหมดวาระตอนอายุ 62 ปี ไม่ใช่ออกจากตำแหน่งกลางวาระ ทั้งนี้ การจะเอาผู้สูงอายุ ผู้อาวุโส หรืออายุน้อยมาเป็นอธิการบดี ต้องเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย ถ้าอายุมาก อยากให้ประสิทธิภาพในการทำงาน สติปัญญายังใช้ได้หรือไม่ ร่างกายยังพอจะทำงานได้หรือไม่ บางคนอายุมากแต่แข็งแรง ก็ไม่ควรปิดกั้น ดังนั้น ถ้าทุกคนยึดประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ไม่แก่งแย่งกันเกินไป ปัญหาก็จะไม่เกิด” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีช่องว่างระหว่างมหาวิทยาลัย และคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง คนรุ่นใหม่โตไม่ทัน ความรู้อาจเรียนทันกัน แต่ประสบการณ์อาจไม่ทันกัน ส่วนมีวิเคราะห์ว่าเงินเดือน และรายได้ที่ค่อนข้างสูง เป็นปัจจัยที่ทำให้อยากเป็นอธิการบดีนั้น คงไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ถ้าใครอยากเป็นอธิการบดีเพราะเงินเดือนสูง ก็ไม่ควรเป็น เพราะเสียของเปล่าๆ

“ระบบที่ทำให้เกิดความเสียหาย คือระบบเล่นพรรคเล่นพวกกันเอง และกลายเป็นประเด็นบาดหมาง อธิการบดีต้องมีลักษณะที่ปกครองได้ เป็นธรรม ซื่อสัตย์ ถ้าถามว่าปัญหานี้จะแก้อย่างไร กฎหมายแก้ได้ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกในใจคนเขียนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้คนมีความรู้ความสามัคคี เห็นประโยชน์ขององค์กร และปรองดองภายในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะถ้าเกิดการแก่งแย่ง จะทำให้เกิดความแตกแยก เป็นศัตรูตัวร้ายของการเติบโตในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ถ้ายิ่งแตกแยกเพราะแย่งอำนาจ คดีความจะไม่จบ มหาวิทยาลัยจะเดินต่อไปไม่ได้ เป็นหนทางวิบัติ ดังนั้น สปิริต หรือน้ำใจของบุคลากรต้องมี ถ้าไม่ได้เป็นผู้บริหาร ก็ไม่ควรขัดขวาง ซึ่งเป็นมารยาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือไม่มีใครยอมใคร เอาตัวกู ความรู้สึกของกูเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นหลัก ถ้าทุกคนมองย้อน และเอามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ก็จะยอมกันได้ แต่ปัญหาคือทุกคนคิดว่าตัวเองเก่ง” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.วันชัยกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้พาดพิงไปถึงกระบวนการสรรหาได้มาที่ต้องโปร่งใส และเป็นธรรม หลายมหาวิทยาลัยใช้วิธีการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง แต่เกิดปัญหาซ้อน คือไม่เป็นที่พอใจของผู้ที่ไม่ถูกเลือก และเกิดการทะเลาะกันไม่รู้จบ ฉะนั้น ถ้าทุกฝ่ายยอมรับ สังคมถึงจะอยู่ร่วมกันได้

“มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ผู้ที่จะมาเป็นอธิการบดี หรือคณบดี ไม่มีปัญหาเรื่องอายุของผู้บริหาร เพราะเป็นตำแหน่งที่มีวาระ ต้องการคนมีความรู้ และประสบการณ์ในแต่ละช่วงเวลา แต่กรณีของ มรภ.ที่เป็นปัญหาในขณะนี้ เนื่องจากมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาออกมาแล้ว ฉะนั้น ทุกคนต้องเคารพ” รศ.ดร.วันชัย กล่าว

รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายๆ มรภ.มองว่าเป็นการตัดสินเฉพาะ มรภ.กาญจนบุรีนั้น หาก มรภ.ใช้กฎหมายกลางร่วมกัน ในการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ก็น่าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน กรณีมีกระแสข่าวว่าบางแห่งแก้ระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ผู้เกษียณนั่งบริหารได้นั้น ระเบียบเป็นเพียงกฎหมายลูก สุดท้ายแล้วก็จะต้องยึด พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า สำหรับทางออกของเรื่องนี้คือ หาก พ.ร.บ.มรภ.ห้ามไม่ให้ผู้ที่เกษียณเป็นอธิการบดี ก็ต้องยึดตามกฎหมายแม่เป็นหลัก แต่ถ้าเห็นว่าผู้เกษียณเป็นอธิการบดีได้ ก็ต้องแก้กฎหมาย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image