สรุปข่าวเด่นการศึกษารอบสัปดาห์ 24-28 ก.ย. 61

ข่าวการศึกษารอบสัปดาห์ 24-28 กันยายนที่ผ่านมา มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจ มีดังนี้

– เริ่มจากพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรียกนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เข้าพบเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561  เพื่อให้ข้อมูลกรณีปัญหาอธิการบดี/รักษาการอธิการบดีจากผู้เกษียณหรือเกิน 60 ปีที่ยังไร้ทางออก โดยสั่งการบ้านให้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงวิเคราะห์ข้อกฎหมายทั้งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ร.บ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยของแต่ละแห่ง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ เสนอพล.อ.อ.ประจิน ภายใน 7 วัน เพื่อช่วยพิจารณาหาทางออก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2561

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ยอมรับเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ว่ามีรองอธิการบดีลาออกจากตำแหน่ง 3 ท่าน ได้แก่ 1. รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ 2.ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี และ3. ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย โดยในส่วนของ รศ.นพ.ปรีชา ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของมม.จนอายุครบ 65 ปีในเดือนกันยายน 2561 ตาม พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยมหิดล และท่านจะไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ล่าสุดที่ประชุมครม. เมื่อ 25 กันยายน 2561 ได้เห็นชอบแต่งตั้ง รศ.นพ.ปรีชา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการศธ. (รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

มทร.พระนคร มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี เนื่องจาก น.ส.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีคนปัจจุบัน จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 โดยมีผู้สมัคร 5 คนด้วยกัน มีเพียงน.ส.สุภัทรา อธิการบดีที่เข้าชิงตำแหน่งอีกวาระเท่านั้น ที่เป็นผู้สมัครอายุเกิน 60 ปี เนื่องจากน.ส.สุภัทรา เกษียณอายุตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันอายุ 63 ปี ซึ่งในที่ประชุม ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง กรรมการสภา ในฐานะกรรมการสรรหา นำประเด็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษากรณีของ มรภ.กาญจนบุรี ว่าอธิการบดี/รักษาการบดีมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ จะอายุเกิน 60 ปีไม่ได้มาเสนอ ซึ่งผศ.ดร.สุรเชษฐ เห็นว่าน.ส.สุภัทรามีคุณสมบัติไม่ผ่าน แต่คณะกรรมการสรรหาอธิการดี ยังให้การสนับสนุน จึงไม่สบายใจและเกรงว่าในอนาคตจะถูกฟ้องร้องได้ในฐานะกรรมการ จึงทำการประกาศลาออกในวันนั้น นอกจากนี้มีการแก้ไขข้อบังคับ มทร.พระนคร ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ที่มีมติในที่ประชุมสภา ให้แก้ไขเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 เพื่อปลดล็อกให้คนอายุเกิน 60 ปี มาบริหารมหาวิทยาลัยต่อไปได้ โดยแก้ไขเพิ่มเติม ว่า หากมีความจำเป็นต้องจ้างบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของ คณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัย เป็นการแก้ไขเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกษียณอายุราชการไปแล้วเข้ารับการสรรหา และจ้างเป็นอธิการบดีได้ ทั้งนี้เป็นการดำเนินการแก้ไขในช่วงหลังจากที่ มทร.พระนคร กำลังเริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีใหม่ ที่เริ่มไปตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 และล่าสุด ผศ.ดร.สุรเชษฐ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการสรรหาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561

Advertisement

นายพีรพงศ์ สุรเสน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) นครราชสีมา เขต 7 ตอบกลับหนังสือนายกฤตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 เรื่องขอความอนุเคราะห์งบประมาณสนับสนุนการจัดประชุมสภากาแฟ จ.นครราชสีมา ณ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา ในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ด้วยข้อความว่า “1.ทราบ 2.ไม่อนุเคราะห์ 3.เงินงบประมาณแผ่นดินจะจัดสรรสนับสนุนการจัดประชุมสภากาแฟไม่ได้” นั้น ทั้งนี้ นายพีรพงศ์ ยังเป็นเจ้าของวลีที่เคยสร้างความฮือฮามาเมื่อปี 2560 ด้วยข้อความว่า “ทราบ, ไม่ไป, ข้าราชการที่บรรจุใหม่ ล้วนเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ทั้งสิ้น ควรให้ผู้บังคับบัญชาโดยชอบเป็นผู้ดำเนินการ” ครั้งนั้นเป็นการตอบจดหมายนายสุวิทย์ ศรีฉาย รองศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) รักษาการศธจ.นครราชสีมา ขณะนั้น ซึ่งทำหนังสือเชิญร่วมเป็นเกียรติประดับเครื่องหมายอินทรธนูแก่ข้าราชการครูบรรจุใหม่ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560  สะท้อนความแตกแยก/งัดข้อระหว่างผอ.สพท.กับศธจ.ที่เกิดจาก คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยเฉพาะข้อ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นของ ศึกษาธิการ(ศธจ.)โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมอำนาจตามมาตรา 53(3) เป็นของผอ.สพท. และอำนาจตามมาตรา 53(4) เป็นของผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งล่าสุดเหตุการณ์บานปลายกระทั่งผอ.เขตพื้นที่ฯ บางแห่งไม่เซ็นหนังสือต้นเรื่องที่จะเสนอศธจ. แต่มอบให้รองผู้อำนวยการสพท.ลงนามแทนเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ยอมรับอำนาจของศธจ. ซึ่งเป็นที่มาที่มีกระแสข่าวว่าสพฐ.จะดำเนินการทางวินัยกับผอ.สพท.รายดังกล่าว ส่วนนายพีรพงศ์ ทางนพ.ธีระเกียรติ มอบหมายให้สพฐ.จัดการ ถ้ายังจัดการไม่ได้ จะใช้อำนาจของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) จัดการ

– ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ล่าสุดคือเครือข่ายอาจารย์นำโดย ทปสท.เดินทางไปขอบคุณนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ที่ได้สนับสนุนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีมรภ.กาญจนบุรี และได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ตลอดจนผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบว่ากรณีอธิการบดีเกษียณรับเงินสองทางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้คณาจารย์ทยอยส่งหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยของตัวเองให้ถอดถอนอธิการบดีที่เกษียณ อาทิ มรภ.นครสวรรค์ มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.ธนบุรี มรภ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ส่วนสัปดาห์หน้า จะมีประเด็นไหนฮอตๆ ต้องติดตามต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image