บทบาทใหม่ที่ ‘ท้าทาย’ ของ ‘เอกชัย กี่สุขพันธ์’ ตีฝ่า ‘วิกฤต’ จรรยาบรรณวิชาชีพครู!! (คลิป)

หลัง คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู และพิจารณาสืบสวนความผิดทางจรรยาบรรณของครู ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่ปี 2558 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 17/2560 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 ที่ให้สรรหาเลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการคณะกรรมการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.ทำให้คดีที่ครูถูกร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพ ถูกทิ้งร้างมากว่า 2 ปี กว่า 900 คดี

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แต่งตั้ง กมว.ชุดใหม่ และแต่งตั้ง นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน กมว.ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2561 เรื่องการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบคุลากรทางการศึกษา พร้อมมอบนโยบายเร่งรัดทำตามกฎหมาย พัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู และเร่งพิจารณาสืบสวนจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเร็ว

สำหรับนายเอกชัย เป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษามากว่า 30 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนั่งประธานอนุกรรมการโรงเรียนประชารัฐ

“มติชน” จึงถือโอกาสนี้ จับเข่าคุยถึงบทบาทหน้าที่ วิสัยทัศน์ เเละเป้าหมายของ กมว.ชุดใหม่

Advertisement

๐เข้ามารับตำแหน่งได้อย่างไร?
“เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ศธ.เห็นว่าน่าจะมีใครเข้าใจ หรือมีความรู้ด้านบริหาร และด้านการศึกษาในระดับหนึ่งมาช่วยเหลือ งานด้านมาตรฐานวิชาชีพครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครู โดยคณะผู้บริหารอาจจะมองว่า ผมสามารถช่วยงานได้ เพราะมีประสบการณ์การสอนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากกว่า 30 ปี และอยู่ในวงการศึกษามานานพอสมควร”

๐รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ติดต่อให้รับตำแหน่งโดยตรง?
“นพ.ธีระเกียรติ มอบหมายให้ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ติดต่อผม และเเจ้งว่ารัฐมนตรีอยากพบ เมื่อผมเข้าพบ ท่านบอกผมว่ามีงานนี้อยู่ อยากให้ผมเข้ามาช่วย อยากให้ดูแลเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ และบอกว่างานนี้เป็นงานค่อนข้างใหญ่ จะปรับเปลี่ยนบางอย่างในวิชาชีพครูได้ อยากให้ผมมาช่วยทำงานดูเเลมาตรฐานวิชาชีพ ผมก็ตอบไปว่า หากรัฐมนตรีคิดว่าผมช่วยเหลืองานได้ ผมยินดีจะรับตำแหน่งนี้”

Advertisement

๐ตัดสินใจนานหรือไม่กว่าจะมารับตำแหน่งนี้?
“ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ไม่ได้คิดข้ามวัน เมื่อรัฐมนตรีให้โอกาสผม ผมตอบรับทันที เพราะชอบความท้าทาย”

๐มองว่างานนี้ท้าทายมาก?
“พอสมควร เพราะการเปลี่ยนแนวคิดของคนที่เคยชินกับการทำแบบหนึ่ง แล้วมาทำอีกแบบหนึ่ง ค่อนข้างยาก”

๐รู้สึกอย่างไรหลังรับตำแหน่ง?
“รับตำแหน่งวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา รู้สึกว่าสิ่งที่ กมว.เคยทำมา อาจจะดีในระยะเวลาหนึ่ง ยุคหนึ่ง เพียงแต่ว่าปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้ายังทำแบบเดิม บางทีเราอาจจะตามไม่ทันยุคสมัย ต้องดู พิจารณาเปลี่ยนแปลงมาตรฐานวิชาชีพครู และจรรยาบรรณวิชาชีพครูต่อไป”

๐รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษ?
“ย้ำอย่างเดียวคือทำตามกฎหมาย วันที่เปิดประชุม กมว.ครั้งแรก นพ.ธีระเกียรติย้ำในที่ประชุม ให้ทุกคนทำตามกฎหมาย เพราะกฎหมายได้บังคับ และกำหนดไว้อยู่เเล้วว่า กมว.มีอำนาจอะไรบ้าง เมื่อกฎหมายกำหนดแบบนี้ กมว.ต้องหารือ พิจารณาร่วมกันว่ามีสิ่งไหนที่ทำได้ อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่ยังไม่ได้ทำ เอาตรงนั้นขึ้นมาปรับปรุงทบทวนใหม่”

๐กมว.ในอดีตต่างจากปัจจุบันอย่างไร?
“คิดว่า กมว.ในอดีตกับปัจจุบัน หากดูตามกฎหมายแล้วไม่ได้ต่างกันเลย อำนาจหน้าที่ของ กมว.ถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยเเล้วใน พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เมื่ออำนาจหน้าที่ไม่ต่างกัน อยู่ที่ว่าที่ผ่านมา กมว.ทำตามอำนาจหน้าที่ ทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยอำนาจหน้าที่ของ กมว.มีดังนี้ พิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และการพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐาน และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ส่งเสริม พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ

ส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจ และพิจารณา หรือดำเนินการในเรื่องอื่น ตามที่รัฐมนตรี หรือคณะกรรมการคุรุสภามอบหมาย”

๐เรื่องไหนเป็นเรื่องแรกที่ต้องการปรับปรุงแก้ไข?
“อย่างเเรกที่ต้องปรับปรุงคือ มาตรฐานวิชาชีพครู เพราะวิชาชีพครูมีความแตกต่างกัน เช่น ครูสอนในระดับอนุบาล และประถมศึกษา ครูสอนในระดับมัธยมศึกษา และครูสอนในระดับอาชีวศึกษา หรือครูสอนเด็กพิเศษ ต่างมีการสอนที่เฉพาะทาง และเฉพาะด้าน เมื่อครูมีการสอนที่ต่างกัน กมว.ไม่สามารถเขียนมาตรฐานวิชาชีพครูทั่วไป แล้วมาใช้กับครูสอนเหล่านี้ไม่ได้ ดังนั้น อาจจะต้องทบทวนมาตรฐานวิชาชีพครูขึ้นมาใหม่ อีกทั้ง ครู เป็นสิ่งที่สังคม และประชาชนทั่วไปคาดหวัง เนื่องจากครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง การจะประกอบวิชาชีพนี้ได้ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สังคมจึงคาดหวังในตัวครูสูงมาก ว่าครูควรปฏิบัติอย่างไร ครูจึงถูกกำกับด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพครู และมาตรฐานวิชาชีพครู

กมว.จึงมีหน้าที่กำหนดสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน ผมคิดว่าต่อไป กมว.ต้องพัฒนาการกำหนดกรอบมาตรฐานวิชาชีพ โดยเขียนให้เป็นมาตรฐานในเชิงสมรรถนะ เพื่อให้ครูเห็นว่าครูควรปฏิบัติ และพัฒนาตนเองในด้านไหน อย่างไร เพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลง และหากครูถูกประเมิน คณะกรรมการ หรือผู้ที่เข้ามาประเมินครู ต้องประเมินตามมาตรฐานวิชาชีพ เพราะปัจจุบันจะพบปัญหาคือ เวลาประเมินผลงานครู คณะกรรมการที่เข้ามาประเมิน แค่มาประเมินทั่วไป โดยไม่นำมาตรฐานวิชาชีพออกมาประเมินด้วย ทำให้ครูบางส่วนไม่เห็นถึงความสำคัญในจุดนี้”

๐มองว่าจรรยาบรรณ และมาตรฐานวิชาชีพครูในปัจจุบัน อยู่ในขั้นวิกฤตหรือไม่?
“จะถึงจุดวิกฤตหรือไม่ ถ้าเป็นด้านจรรยาบรรณ ในแง่พฤติกรรมของครู หากพบครูกระทำไม่ดี ทำร้ายนักเรียน ลงโทษนักเรียนเกินควร ผมว่าถึงจุดวิกฤตด้านจรรยาบรรณแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาครูผิดจรรยาบรรณา เป็นปัญหาที่มีมานาน หากมีหลักฐานความผิดชัดเจน ชัดเเจ้ง ผมว่า กมว.สามารถลงโทษด้านจรรยาบรรณได้เลย ส่วนเรื่องใบอนุญาตฯ จะพักใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กมว.โดยพิจารณาความผิดเป็นกรณีไป

ส่วนด้านมาตรฐานวิชาชีพครู เช่นเดียวกัน คือต้องดูเป็นกรณีไป อย่างเร็วๆ นี้ เห็นข่าวครูตรวจการบ้านนักเรียนผิด ต้องพิจารณาในหลายๆ ด้าน เช่น โรงเรียนแห่งนี้ให้ครูสาขาหนึ่งมาสอนอีกสาขาวิชาหนึ่งหรือไม่ ต้องดูทั้ง 2 มุม มุม หนึ่งคือ ครูสอนในสาขาที่เขาจบมาหรือไม่ และความผิดนี้ เป็นความผิดประจำสม่ำเสมอ หรือผิดครั้งนี้ครั้งเดียว หากสังคมเอาความผิดนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่ความจริงก็อาจผิดพลาดเพียงครั้งเดียว หรือเป็นครูใหม่ กำลังทดลองสอน การสอนของครูมีครูพี่เลี้ยง หรือมีบุคลากรที่คอยให้ความช่วยเหลือ คอยให้คำปรึกษาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าครูที่เราได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นการสอบผ่านการแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วย หรือโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น มีผู้สมัครเข้าเเข่งขันกว่าหมื่นคน แต่มีผู้ผ่านการสอบเพียงหลักพันคนเท่านั้น แสดงว่าเราได้คนที่เก่งในระดับหนึ่ง ที่คนเหล่านี้สอบผ่านชนะคนเป็นหมื่นได้ เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อว่าครูเหล่านี้จะไม่เก่ง แต่เชื่อว่าความเก่งที่ครูเหล่านี้มี เราต้องมาปรับ มาช่วยครูเหล่านี้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง ต้องดูความผิดพลาดเป็นกรณีไป”

๐อนาคตครูควรพัฒนามาตรฐานวิชาชีพใดเป็นเรื่องแรก?
“อย่างแรก กมว.ต้องกำหนด และเขียนมาตรฐานวิชาชีพครูให้ชัดเจนก่อน ขณะนี้มาตรฐานวิชาชีพครูเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปมาก ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ เช่น ไทยร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำหนดกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาปรับให้ใกล้เคียงกัน เพื่อจะให้ครูอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนร่วมกันได้สะดวกมายิ่งขึ้น เนื่องจากมีมาตรฐานเดียวกัน

แต่ทั้งหมดนี้ หลักของมาตรฐานวิชาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานวิชาชีพครูประเทศไหน หรือต่างประเทศก็ตาม เป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนานักเรียน ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียน คุณภาพของนักเรียน เพียงแต่จะกำหนด และเขียนมาตรฐานในแต่ละด้านออกมาในรูปแบบไหน ดังนั้น ทุกคนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน แม้วิธีการแตกต่าง ต้องเห็นว่าการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครูคือความท้ายทาย จะกำหนดมาตรฐานอย่างไรให้ครูมีความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอน และพัฒนาตนเองให้ทันสมัยได้ต่อเนื่อง”

๐อนาคตครูควรพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพใดเป็นเรื่องแรก?
“ผมมองว่า กมว.ชุดใหม่ ต้องพิจารณาจรรยาบรรณวิชาชีพที่ กมว.กำหนดอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณผู้รับบริการ จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และจรรยาบรรณต่อสังคม จรรยาบรรณเหล่านี้เหมาะสมกับปัจจุบันหรือไม่ ถ้ายังกำหนดไม่ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ อาจจะต้องทบทวน กำหนดจรรยาบรรณให้ครอบคลุมโลกยุคดิจิทัล ต้องใช้ได้ และเกิดประโยชน์จริง เรื่องนี้ผมจะนำเสนอที่ประชุม กมว.ให้ทบทวนกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพใหม่ ซึ่งผมตั้งเป้าว่าจะทบทวนทั้งมาตรฐานวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง จรรยาบรรณวิชาชีพครูใหม่ เนื่องจากไม่มี กมว.มากว่า 2-3 ปีแล้ว ข้อกำหนดต่างๆ ที่ผ่านมาอาจไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบัน”

๐เมื่อมี กมว.ชุดใหม่ ปัญหาเกี่ยวกับครูทุกอย่างจะพุ่งเข้าหาทันที มีวิธีรับมืออย่างไร?
“สิ่งเเรกที่ผมทำเมื่อทำงานวันแรก คืออ่านกฎหมาย นั่งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาดูว่ากฏหมายให้อำนาจอะไรกับ กมว.บ้าง เมื่อเห็นภาพนี้ชัดเจน จะรู้ว่า กมว.สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมจะแนะนำกรรมการในที่ประชุม กมว.ได้ว่าการทำงานควรเดินหน้าไปในทิศทางใด เช่น การพิจารณาคดีครูที่ผิดจรรยาบรรณ ที่ผ่านมา กมว.มีข้อมูลตัวเลขว่ามีครูทำผิดจรรยาบรรณกี่ราย แต่ไม่มีรายละเอียด หรือสาเหตุว่าครูทำผิดเรื่องใดบ้าง เช่น ชู้สาว ละทิ้งหน้าที่ ติดการพนัน ติดสุรา มีกี่ราย จึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ ให้แยกชัดเจนว่ามีครูที่ทำผิดจรรยาบรรณในระดับชั้นประถม มัธยม ครูเอกชน และรัฐ แบ่งตามภูมิภาคได้กี่ราย เพราะหากปรับปรุงฐานข้อมูลให้ดีขึ้น จะมีประโยชน์ในเชิงบริหารจัดการ และวิเคราะห์ปัญหาได้มากขึ้น”

๐อยากฝากอะไรถึงครู?
“อยากฝากว่า มาตรฐานวิชาชีพครู จรรยาบรรณวิชาชีพครู เป็นเพียงกระดาษ เป็นเพียงตัวหนังสือ การที่ครูจะมีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าการเรียนการสอน การวางตัว ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของครู หาก กมว.กำหนดข้อกฎหมายสวยหรูอย่างไร จะไม่เกิดประโยชน์ถ้าครูไม่เห็นว่ามาตรฐาน เเละจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติตาม สิ่งที่เราต้องการคือให้ครูผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ คุณภาพการศึกษา ดังนั้น เวลาครูจะทำอะไร ให้คิดนิดนึงว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกหรือไม่

ผมมองว่าขณะนี้ครูขาดแรงบันดาลใจที่จะทำหน้าที่ครู แต่ถ้าครูตระหนักในความรับผิดชอบ ตระหนักในความรู้สึกที่ว่าเราเป็นครู เป็นข้าราชการรับเงินเดือนราชการอยู่ และถามตัวเองว่าได้หน้าที่พัฒนานักเรียนทำเต็มที่หรือยัง ความสำนึกในวิชาชีพครู ศักดิ์ศรีความเป็นครูนั้น มีความสำคัญมาก ถ้า กมว.เขียน หรือกำหนดมาตรฐานไม่ดี แต่เชื่อว่าถ้าครูมีจิตสำนึก จะปฏิบัติตัวดี ช่วยพัฒนานักเรียนต่อไป ถ้าครูไม่มีสำนึก ต่อให้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพดีแค่ไหน ก็ไปไม่มีค่าอะไร”

๐ภาระงานที่ทำอยู่หนัก และเครียดมาก มีวิธีการผ่อนคลายอย่างไร?
“ผ่อนคลายทั่้วไป ถ้ามีโอกาสผมจะว่ายน้ำ ออกกำลังกายบ้าง บางทีก็เข้าร้านหนังสือ หากอยู่บ้านก็พักผ่อนด้วยการดูข่าว ดูภาพยนตร์ เพื่อผ่อนคลาย ครอบครัวเข้าใจ และคอยให้กำลังใจ เพราะรู้ว่าหน้าที่นี้เป็นการช่วยเหลืองานของประเทศชาติ”

ข้อมูลครูทำผิดจรรยาบรรณ
ดำเนินการตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณากรประพฤติผิดจรรยาบรรษของวิชาชีพ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 สำนักจรรยาบรรณวิชาชีพและนิติการ โดยกลุ่มกำกับดูเเลจรรยาบรรณวิชาชีพ ได้รับเรื่องกล่าวหา หรือเรื่องกล่าวโทษกรณีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพไว้เพื่อดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2549-2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2561) จำนวน 1,294 เรื่อง ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 289 เรื่อง มีเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณา จำแนกตามจำนวนเรื่องที่ได้รับ ที่ดำเนินการเเล้ว และที่คงเหลือ ตามปี ดังนี้

ปีที่รับเรื่อง จำนวนที่รับเข้า จำนวนที่พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวนที่คงค้างในกระบวนการพิจารณา
ปี 2549            16                            15                                            1
ปี 2550            115                          40                                            75
ปี 2551            157                           38                                           119
ปี 2552            74                             22                                           52
ปี 2553            66                             22                                           44
ปี 2554            67                             30                                           37
ปี 2555           102                            29                                           73
ปี 2556            82                             28                                           54
ปี 2557            90                             25                                            65
ปี 2558            234                           33                                            201
ปี 2559            114                           9                                             105
ปี 2560            96                             5                                             91
ปี 2561            81                             2                                              79
รวม                 1,294                        298                                           996

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image