เพิ่มสิทธิบิ๊กร.ร.-เขตพื้นที่-ศึกษานิเทศก์กู้กองทุนหมุนเวียนได้

น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์  เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศข้อบังคับคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูว่าด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู พ.ศ.2561 ใจความว่า โดยที่มีการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ดังนั้น เพื่อให้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง นั้น เรื่องนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการก.ค.ศ. เพื่อกำหนดให้ทุนหมุนเวียนในกำกับของกระทรวงการคลังมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

น.ศ.อุษณีย์ กล่าวต่อว่า สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการประกาศข้อบังคับฯใหม่ คือ  เปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามาตรา 38 ก ข และค (1) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งหมายถึงผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์  เป็นผู้มีสิทธิกู้ได้ด้วย จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะข้าราชการครู เพื่อช่วยแก้ปัญหาและบรรเทาภา ระหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดศธ.

“อย่างไรก็ตามเมื่อมีการประกาศใช้ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ใหม่ จะส่งผลให้มีผู้มีสิทธิกู้เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000  คน  จากเดิมที่มีเฉพาะข้าราชการครู 400,000  คน  ใช้งบประมาณหมุนเวียนปล่อยกู้ปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาทางคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้เพิ่มวงเงินกู้ต่อราย จากเดิมปล่อยกู้ได้ไม่เกินปีละ 200,000 บาทต่อคนต่อปี  เป็นกู้ได้ไม่เกินรายละ 300,000 บาทต่อราย และเพิ่มเงื่อนไขต้องมีผู้ค้ำประกัน 2 คนจากเดิมให้ค้ำประกัน 1 คน ซึ่งหากคิดจากกรอบงบประมาณที่ปล่อยกู้ปีละ 100 ล้านบาท เท่ากับว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ประมาณ 300 กว่าคนต่อปี”น.ส.อุษณีย์กล่าว

เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตามแม้จำนวนผู้มีสิทธิกู้จะเพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่า จะไม่กระทบต่องบประมาณ เพราะเท่าที่ดูจากการยื่นกู้ที่ผ่านมา พบว่า ยังกู้ไม่เต็มจำนวน ซึ่งเงินส่วนที่เหลือจะต้องส่งคืนกองทุนฯ โดยขณะนี้กองทุนฯ มีเงินอยู่ประมาณ 1,320 ล้านบาท ขณะที่การผ่อนชำระส่วนใหญ่ ไม่พบปัญหาหนี้เสีย มีเพียงการผ่อนล่าช้าบ้าง ซึ่งไม่ใช้ปัญหาใหญ่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image