ผอ.องค์การค้าฯค้านยุบ แจงปิดร้าน ‘ศึกษาภัณฑ์’ สาขาราชดำเนินทุนสูง ย้ายรวมที่วัดราชบพิธ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม กรณีนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินองค์การค้าโดยมีหนี้เร่งด่วนที่ต้องชำระคือ ค่ากระดาษและค่าจ้างพิมพ์ประมาณ 1,300 ล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยเดือนละ 5 ล้านบาท และมีรายจ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนละ 40 ล้านบาท ขณะที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตัดโควต้าการจัดพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯ เหลือ 70% เบื้องต้นนายอรรถพลจึงหารือร่วมกับผู้บริหารองค์การค้าของ สกสค. ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าจะศึกษากฎหมายเพื่อทำแผนการถ่ายโอนพนักงานองค์การค้ามายัง สกสค. ซึ่งปัจจุบันองค์การค้ามีพนักงาน 1,200 คน นอกจากนี้มีแนวคิดจะยกเลิกสัญญากับร้านค้าตัวแทน 100 แห่งเพื่อเปิดซื้อขายเสรีแทน ยุบร้านศึกษาภัณฑ์ที่ขาดทุนทั่วประเทศ พร้อมทั้งหาช่องทางผลิตอุปกรณ์สะเต็ม วิทยาศาสตร์ สร้างรายได้ และที่สำคัญสั่งสำรวจทรัพย์สิน ที่ดิน เพื่อขายลดหนี้นั้น

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า การปรับปรุงการทำงานขององค์การค้าฯ ต้องมองทั้งระบบ การทำงานต้องมีความเชื่อมโยงกับบุคลากรที่มีอยู่ โดยในส่วนของตนเองยืนยันว่า ไม่มีนโยบายที่จะยุบร้านศึกษาภัณฑ์ หรือเอาคนออกอย่างแน่นอน เพราะร้านศึกษาภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับองค์การค้าฯมาโดยตลอด การพัฒนาปรับปรุงจะมองทั้งระบบไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยร้านศึกษาภัณฑ์ใดที่ขาดทุน ไม่คุ้มค่า จะจัดทำแผนเพิ่มปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำไร ปัจจุบันองค์การค้าฯ มีร้านศึกษาภัณฑ์อยู่ในความดูแลประมาณ 8-10 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านศึกษาภัณฑ์ สาขาถนนราชดำเนินนั้น ก็ไม่ใช่การปิดหรือยุบร้าน แต่เป็นการย้ายจากถนนราชดำเนิน มีการขึ้นค่าเช่าที่ค่อนข้างแพง และจากการประเมินพบว่าหากยังอยู่พื้นที่เดิมอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้น จึงให้ย้ายร้านศึกษาภัณฑ์ สาขาถนนราชดำเนิน ไปอยู่ในที่ดินขององค์การค้าฯแถวถนนราชบพิธแทน การย้ายร้านศึกษาภัณฑ์ สาขาถนนราชดำเนินมีการเตรียมความพร้อมมาก่อนตนจะเข้ามารับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีการยุบร้านศึกษาภัณฑ์ขาดทุน จะถือว่าขัดต่อนโยบายของ สกสค.หรือไม่ นายวีระกุลกล่าวว่า การประชุมร่วมกับ สกสค.ที่ผ่านมาถือเป็นการหารือ และการยุบหรือปิดร้านศึกษาภัณฑ์ที่ขาดทุน เป็นข้อเสนอของทาง สกสค. แต่ในส่วนของตนเอง จะดูเรื่องการบริการจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงพัฒนาให้เกิดกำไรที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับบุคลากร เพราะการทำงานต้องเชื่อมโยงกับคนด้วย และคนที่ทำงานกับองค์การค้าฯก็อยู่ด้วยกันมานาน ดังนั้นการบริหารจัดการจะมองเพียงธุรกิจด้านเดียวไม่ได้ ต้องมองเรื่องบุคลากรด้วย

อย่างไรก็ตาม ตนจะเร่งจัดทำแผนปรับปรุงองค์การค้าฯให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจะเชิญร้านค้าตัวแทนมาหารือ เพื่อยกเลิกสัญญา โดยเฉพาะข้อตกลงที่ไม่ให้มีการขายข้ามเขต เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน ทุกร้านค้าควรมีสิทธิแข่งขันอย่างเสรี ขณะที่องค์การค้าฯ ยังต้องมีเงินหมุนเวียนในการลงทุน ดังนั้นจึงยังต้องให้มีการวางเงินมัดจำ ส่วนจะกำหนดสัดส่วนการวางเงินมัดจำเท่าไร อย่างไรนั้น ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ขณะเดียวกันเป้าหมายของตนเองอยากให้มีร้านค้าตัวแทนกระจายไปในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถขายสินค้าได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการถ่ายโอนบุคลากรขององค์การค้าฯ มาอยู่ที่ สกสค. นั้น อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย ซึ่งหากสามารถทำได้ตนก็ยินดี โดยต้องมีการประกาศให้รับโอนย้ายด้วยความสมัครใจ แต่ก็ต้องดูให้รอบคอบว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะคนขององค์การค้าฯ รับเงินเดือนจากการทำธุรกิจ ส่วนคนของ สกสค.รับเงินเดือนจากรัฐ

Advertisement

แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทเชียงใหม่ศึกษาภัณฑ์ จำกัด ย่านคันคลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เผยกรณีองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กระทรงศึกษาธิการ สั่งเลิกหรือยุบศึกษาภัณฑ์ ผู้จำหน่ายแบบเรียน เครื่องเขียน เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงานกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ทางองค์การค้า สกสค.ไม่ได้แจ้งสั่งเลิกดังกล่าว บริษัทฯไม่ได้เป็นสาขาขององค์การค้าอย่างใด แต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปบริษัทฯ และต้องวางเงินค้ำประกันเพื่อสั่งซื้อหนังสือ แบบเรียน และเครื่องเขียนปีละ 50 ล้านบาท ดังนั้น องค์การค้า สกสค. จึงมีกำไร 100% ไม่น่าขาดทุนสะสมกว่า 1,300 ล้านบาทตามที่กล่าวอ้าง

“ผู้ประกอบการที่จำหน่ายหนังสือ แบบเรียน เครื่องเขียน ขององค์การค้า สกสค.ส่วนใหญ่รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งบริษัทจำหน่ายในภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่การสั่งหนังสือ แบบเรียน มักไม่ได้ โดยอ้างว่าผลิตไม่ทัน ยังไม่ได้ผลิตเพิ่ม ทำให้หนังสือแบบเรียนขาดตลาด บางครั้งกว่าจะได้นักเรียน เรียนจนปิดเทอมไปแล้ว ส่วนสถานศึกษาบางแห่ง ได้สั่งซื้อหนังสือแบบเรียนกับองค์การค้าโดยตรง ไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากมีส่วนลดหนังสือ 10-20 % แต่ร้านค้าไม่ได้รับส่วนลดแต่อย่างใด จึงต้องขายราคาเต็ม เนื่องจากต้นทุนจำหน่ายสูงกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันการจำหน่ายหนังสือ แบบเรียน ได้ส่วนแบ่งตลาดไม่มาก มีกำไรน้อย ถ้าขายหนังสือแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องอาศัยการจำหน่ายเครื่องเขียน เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด และดำเนินกิจการต่อไปได้ หากองค์การค้า สกสค.ต้องการอยู่รอด ควรลดเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือโบนัสผู้บริหารลง เนื่องจากค่าตอบแทนสูงมาก เพื่อชดเชยการขาดทุน

Advertisement

“ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าองค์การค้า สกสค.สั่งเลิก หรือยุบศึกษาภัณฑ์ทั่วประเทศหรือไม่ แต่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ จะไปประชุมชมรมเครื่องเขียนแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องดังกล่าว พร้อมหาแนวทางการประกอบธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพื่อหาข้อสรุป ก่อนเสนอให้องค์การค้า สกสค.พิจารณาต่อไป” แหล่งข่าวระบุ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เห็นที่นายอรรถพลให้สัมภาษณ์แล้ว ถือเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่า สกสค.และองค์การค้าฯ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คิดว่านายอรรถพล และนายวีระกุล จะร่วมกันวางแผน และแก้ไขปัญหาที่ค้างคา เพื่อให้เกิดความชัดเจน และปรับปรุงองค์กรให้โปร่งใสขึ้น อย่างไรก็ตาม หนี้สินขององค์การค้าฯ หากปล่อยไป ดอกเบี้ยจะเพิ่มมากขึ้น จึงต้องรีบจัดการปัญหาส่วนนี้ ซึ่งตนเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหา โดยต้องตรวจสอบ และจัดการเอกสารสิทธิของทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด ว่าทรัพย์สินใดเป็นของ สกสค.และทรัพย์สินใดเป็นขององค์การค้าฯ หากเอาไปใช้หนี้ก็ต้องศึกษาให้ดีว่าจะนำมาขายเพื่อลดดอกเบี้ยดีหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนถ่ายโอนกำลังคนขององค์การค้าฯ มายัง สกสค.เพื่อลดภาระการจ่ายเงินเดือนขององค์การค้าฯ กว่า 40 ล้านบาทต่อเดือน เป็นไปได้หรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ยังไม่ทราบข่าว อาจเป็นการพูดคุยในที่ประชุมกันเอง อย่างไรก็ตาม การย้ายคนต้องดูหลายเรื่อง ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่ยืนยันว่าจะไม่ยุบองค์การค้าฯ แน่นอน

“ส่วนการยุบศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ที่ขาดทุนทั่วประเทศ และเหลือไว้เฉพาะร้านที่ทำกำไรนั้น เป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ คือ สกสค.และองค์การค้าฯ จะผู้ตัดสินใจ แต่ผมขอยืนยันนโยบายว่าจะไม่ยุบองค์การค้าฯ แน่นอน เพราะหากยุบจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อพนักงานที่ทำงานอยู่กว่า 1,200 คน มีแต่จะช่วยเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้มอบหมายงานใดเป็นพิเศษให้นายอรรถพลในการแก้ไขปัญหา สกสค.และองค์การค้าฯ เพียงแต่บอกให้ปรับปรุงการพัฒนา สกสค.และองค์การค้าฯ ให้ดีขึ้น” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

วันเดียวกัน ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังผู้บริหาร สกสค.ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับปรุงร้านศึกษาภัณฑ์ทั่วประเทศ และองค์การค้าของ สกสค.โดยมีแผนยุบร้านศึกษาภัณฑ์ที่ขาดทุน รวมถึง กรณีมีกระแสข่าวว่าจะยุบร้านศึกษาภัณฑ์ ราชดำเนินกลาง เนื่องจากค่าเช่าที่สูง ไม่คุ้มการรายได้ โดยทางร้านได้ประกาศปิดร้านนั้น บรรยากาศบริเวณหน้าร้านยังเป็นไปตามปกติ ไม่มีการติดป้ายยุบร้านแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังมีลูกค้าเข้าใช้บริการ และเลือกซื้อของตลอดเวลา จากการพูดคุยกับพนักงานรายหนึ่ง ระบุว่าหลังมีข่าวว่าจะยุบองค์การค้าฯ รู้สึกตกใจมาก แต่ยืนยันว่าร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ราชดำเนินกลาง ไม่ยุบแน่นอน เพราะเปิดมายาวนานถึง 68 ปีแล้ว มีเพียงการย้ายชั่วคราวเท่านั้น

พล.อ.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวมอบนโยบายในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของ สกสค. ซึ่งมีผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วม ว่า ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของ สกสค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้คดีความต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก สิ่งที่เห็นขณะนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างองค์การค้าฯ กับ สกสค. และสำนักงาน สกสค.จังหวัด หากมีอะไรที่สามารถช่วยองค์การค้าฯ ได้ก็ขอให้ช่วยกัน เดิมมีความคิดที่จะยุบองค์การค้าฯ จริง แต่เมื่อมาดูบริบทการทำงาน และทีมงานที่เข้าไปสร้างระบบใหม่ และทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ซึ่งอยู่กับวงการครูมานาน คิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่องค์การค้าฯ จะหายไปจากวงการศึกษา เพราะฉะนั้น ความคิดเรื่องยุบจึงล่มเลิก และคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์การค้าฯ เดินต่อไปได้ ซึ่งตนได้ย้ำให้นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. และนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ร่วมกันทำงานแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลง แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม เงินเดือนเจ้าหน้าที่และพนักงานองค์การค้าฯ เดือนละประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีจ่ายจะต้องมาขอยืมจาก สกสค.หรือไม่

พล.อ.โกศลกล่าวต่อว่า ขณะที่ปัญหาการพิมพ์ขององค์การค้าฯ ที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานในสังกัด ศธ.ไม่ค่อยใช้บริการจ้างองค์การค้าฯ ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด ศธ.ใช้บริการองค์การค้าฯเพิ่มขึ้น ทางองค์การค้าฯห็จะต้องประเมินศักยภาพตัวเองให้เหมาะสมด้วย อย่าทำให้ใครผิดหวัง

ด้านนายอรรถพลกล่าวว่า การบริหารจัดการหนี้ขององค์การค้าฯ ก็จะดูเรื่องการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนซึ่งมีหลายตัวเลือก เช่น เรื่องที่ดิน ก็ต้องทำโฉนดให้เรียบร้อย เพราะบางแปลงยังไม่มีโฉนด และเท่าที่ดูที่ดินขององค์การค้าฯ หลายแปลงเป็นที่ดินผืนใหญ่ และอยู่ในทำเลธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างมาก โดยแนวทางบริหารจัดการอาจจะเปิดให้เช่าที่ดิน นำไปลงทุนด้านด้านอื่น ๆ ส่วนการขายจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ส่วนกรณีข้อเสนอให้ปิดหรือยุบร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ที่ไม่ทำกำไรนั้น ให้องค์การค้าฯ ไปดูภาพรวม ซึ่งเบื้องต้น พบว่า ร้านศึกษาภัณฑ์ ที่ทำกำไรเพียงสาขาเดียว คือสาขาลาดพร้าว ส่วนสาขาอื่น หากตรวจสอบแล้วไม่คุ้มทุน ก็อาจจะต้องหยุดหรือให้คนอื่นทำ ส่วนบุคลากรก็จะใช้วิธีบริหารจัดการให้ไปทำงานอื่นที่เหมาะสม

ด้านนายวีระกุล ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการหารือว่า ตามที่มีข่าวว่าองค์การค้าของ สกสค.จะอยู่รอดหรือไม่และจะมีการยุบร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์นั้น ขอชี้แจงว่า นพ.ธีระเกียรติ มีนโยบายชัดเจนว่าองค์การค้าของ สกสค.เป็นหน่วยงานที่มีประโยชน์กับการพยุงราคาแบบเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องสื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งพนักงานองค์การค้าฯ ก็ยังมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม องค์การค้าฯ ยังมีหนี้สินอยู่ประมาณ 3-4 พันล้านบาท สิ่งที่จะทำขณะนี้คือ ทำให้โรงพิมพ์สามารถพิมพ์งานได้อย่างมีคุณภาพ ปรับปรุงเครื่องจักรแท่นพิมพ์ ส่วนเรื่องร้านศึกษาภัณฑ์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 9 แห่งและ 1 แห่งที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพนักงานกว่า 200 คน ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอของทาง สกสค.ว่าอาจจะมีการยุบร้านศึกษาภัณฑ์ที่มีปัญหาขาดทุน แต่แนวทางของตนไม่ได้ตัดสินใจแบบนั้น เพราะร้านศึกษาภัณฑ์เป็นของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางใจ พนักงานคนอยู่กันมาแต่เริ่ม ทำให้เรามีต้นทุนบุคคลากรสูงส่วนใหญ่เป็นระดับอาวุโสทำงานมาหลายปี ดังนั้น จะหาวิธีการและปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และให้บุคลากรมาร่วมกันดูแลเพิ่มรายได้มากขึ้น ยืนยันพนักงานทุกคนจะไม่ถูกเลิกจ้าง ยกเว้นคนที่กระทำผิดระเบียบ กติกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image