นักวิชาการจุฬาฯ แนะเปิดหลักสูตรครู 4-5 ปีให้ดูงานวิจัย จี้ ศธ.ฟังทุกฝ่ายก่อนฟันธงผลิต 4ปี

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กรณีที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เชิญอธิการบดี และคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) เข้าร่วมประชุมเพื่อรับมอบนโยบายการผลิตครูคุณภาพ โดยให้ลดเวลาหลักสูตรการผลิตครู จาก 5 ปี เหลือ 4 ปี โดยจะเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2562 แต่หากสถาบันใดยังจะผลิตครู 5 ปี ก็ทำได้ แต่จะไม่ได้งบประมาณสนับสนุน ซึ่งคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง เห็นตรงกันการสร้างบัณฑิตครูให้มีคุณภาพเป็นเลิศ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาคือ 5 ปี จำนวน 170 หน่วยกิต ใน 53 วิชา ว่า สังคมไทยสอนหลักสูตรครู 5 ปี มาเกือบ 20 ปีแล้ว ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน สาเหตุการเรียนครู 5 ปี มาจากความต้องการที่จะพัฒนาหลักสูตรครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เมื่อดูวิชาชีพชั้นสูงอย่างแพทย์ และเภสัชกร ต่างใช้เวลาเรียน 5-6 ปี เพื่อฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับตนคิดว่าการเรียนครู 5 ปี ใช้เวลาเรียนนานเกินไป เห็นด้วยกับนโยบายเรียนครู 4 ปี เพียงพอต่อกระบวนการสร้างวิชาชีพครูให้นิสิต นักศึกษา และหาประสบการณ์ฝึกอาชีพความเป็นครูได้ ซึ่งบางหลักสูตรสามารถลดจำนวนหน่วยกิต ควบรวมเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกัน และบางหลักสูตรนิสิต นักศึกษาสามารถเรียนได้ด้วยตนเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หากมหาวิทยาลัยศึกษา และจัดทำหลักสูตรครูใหม่ เชื่อว่าจะเหลือระยะเวลาเรียนเพียง 3-4 ปีเท่านั้น อีกทั้ง การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในอดีตใช้เวลาฝึก 1 ปี แต่ปัจจุบันนิสิต นักศึกษา ลงสนามเรียนรู้ และฝึกทักษะการสอนตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 1 ถือเป็นการให้ผู้เรียนรู้จัก และเข้าใจตัวเองว่าอยู่ในวิชาชีพนี้ได้หรือไม่ ถือว่าระยะเวลา 1 ปี ทีฝึกการเรียนการสอนนั้น ถูกทดแทนโดยการส่งนิสิต นักศึกษาไปสอนตามพื้นที่จริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 1

“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีการศึกษา และวิจัยออกมาแล้วว่าการเรียนครู 4 หรือ 5 ปี มีผลดี หรือผลเสีย ต่างกันอย่างไร ในความคิดเห็นผมคิดว่าไม่ต่างกัน ต่างกันเพียงจำนวนปีเท่านั้น แต่ในแง่ของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตครู จำเป็นต้องฟังหลักการ และเหตุผลจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การที่อยู่ๆ ออกมาประกาศว่าต่อไปเรียนครู 4 ปี เป็นการด่วนประกาศเกินไป การวางนโยบายที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อภาพรวม ควรจะพูดคุย เอางานวิจัยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่านี้ ประเด็นสำคัญคืออย่ายึดติดกับจำนวนปี โดยมองไม่เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพครู ไม่เช่นนั้นจะเป็นการถกเถียงไม่มีที่สิ้นสุด” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเปลี่ยนมาใช้หลักสูตร 4 ปีหรือไม่ คิดว่าการกำหนดหลักสูตร สภาต้องคิด และวางแผน โดยดูความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งผู้เรียนส่วนมากมักเลือกเรียนหลักสูตรครู 4 ปีอยู่แล้ว อีกทั้ง สภาต้องมองว่านี่คือนโยบาย และทิศทางของประเทศ เชื่อว่า มรภ.และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศจะปรับตัวมาสอนหลักสูตร 4 ปีในที่สุด คาดว่าใช้ระยะเวลา 1-2 ปีเท่านั้น

Advertisement

ด้าน นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้บังคับ มหาวิทยาลัยจะเลือกเปิดหลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ ศธ.เสนอเป็นนโยบายเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่พร้อมจะไม่ทำ ก็ไม่ว่ากัน เพราะมีมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะทำจำนวนมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image