อัดนโยบายรับ ‘ม.1-ม.4’ สพฐ.เปลี่ยนจนมึน

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า กรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2562 โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนดังที่มีการแข่งขันสูง สอบคัดเลือกนักเรียนได้ก่อนโรงเรียนอื่น โดยจะนำร่องให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.4 ก่อนโรงเรียนอื่นเป็นที่แรก ว่า เกณฑ์การรับนักเรียนของ ศธ.ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงระเบียบ และเกณฑ์ทุกปี ทำให้ผู้ปกครองสับสน หาก สพฐ.และ ศธ.กำหนดเกณฑ์ใหม่ ควรจะมีเกณฑ์นำร่อง 2-3 ปี เพื่อให้ผู้ปกครองเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง และเมื่อมองถึงแนวทางของ กพฐ.เรื่องการขยายจำนวนการรับต่อห้องจาก 40 คน รับเพิ่มได้ไม่เกิน 5 คน เนื่องจากค่านิยมของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนดัง ทั้งที่โดยหลักการ และตามมาตรฐานไม่ควรเกิน 35 คนนั้น ผู้ปกครองไม่เห็นบรรยายกาศการเรียนการสอน หรือคุณภาพการศึกษา ความหนักใจจึงตกไปอยู่ที่ครูผู้สอนว่าจะถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนตามมาตรฐานที่ ศธ.กำหนดได้หรือไม่

“ส่วนจะขยับช่วงเวลาการรับนักเรียนจากที่แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคม มาเป็นภายในเดือนมกราคมนั้น ทำได้ แต่ต้องทำความเข้าใจ และพูดคุยกับโรงเรียนในสังกัดให้ดีว่าจะกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูหรือไม่ ส่วนกรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เลื่อนจัดทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เร็วขึ้นอีก 2 เดือนนั้น จะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะนักเรียนจะไม่อยู่ในห้องเรียน แต่มุ่งแต่เรียนพิเศษ” ผศ.รัฐพงศ์ กล่าว

ผศ.รัฐพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนการให้โรงเรียนดังสอบคัดเลือกนักเรียนก่อนนั้น เห็นด้วย เพราะเปรียบเสมือนทดลองสอบ เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนพิเศษ นักเรียนต้องการเข้าเรียนต่อสูง ส่วนที่ สพฐ.ยกเว้นค่าสมัครสอบให้แก่เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แม้จะทำให้มีโอกาสมากขึ้น แต่ผู้ปกครองต้องไตร่ตรอง และคิดให้ดีกับความเหลื่อมที่นักเรียนจะได้รับ เพราะสังคมในโรงเรียนมีความเหลื่อมสูงเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image