‘มศว’ เปิด ป.ตรีกฎหมายเพื่อสังคมปี’62 เน้นไกล่เกลี่ย-ปรองดอง

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า มศว ได้เตรียมจัดสัมมนาทางวิชาการ ได้แก่ สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “แนวทางวิชาการพัฒนาสังคม ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดี” การจัดเสวนาหัวหน้าพรรคการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นช่วงต้นปี 2562 โดยจะเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เกิน 7 พรรค เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายของพรรค นอกจากนี้ จะผลักดันให้นิสิต มศว ได้เสนอความคิดเห็นผ่านเวที และสื่อต่างๆ เริ่มจากเวทีเสวนาเรื่อง “เมาไม่ขับ ขยับที่ตัวเรา” จัดโดยชมรมเมาไม่ขับของ มศว ที่จัดตั้งเป็นแห่งแรก ซึ่งในอนาคตจะเชิญทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วม นอกจากนี้ จะสัมมนาทางวิชาการ “เรื่องการศึกษาเพื่อสังคมอันยั่งยืน” โดยอาจนำเสนอเกี่ยวกับงานวิจัย หรืออาจเชิญทูตอาเซียน 10 ประเทศมาพูดคุย

“เนื่องจาก มศว มีมุมมองเรื่องการรับใช้สังคม จึงได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์ (เพื่อสังคม) ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นหลักสูตรกฎหมายที่เน้นการไกล่เกลี่ย เจรจาความ โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ อาทิ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รวมถึง อาจารย์ที่เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ โดยจะเปิดรับนิสิตในปีการศึกษา 2562 ทั้งหลักสูตรปกติ และหลักสูตรพิเศษ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการทางสังคม ภาคปกติ และภาคค่ำ และหลักสูตรการสอนทางสังคมศาสตร์ ระดับปริญญาโท และเอก” รศ.ดร.ชลวิทย์ กล่าว

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มศว กล่าวว่า การเปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตร์ (เพื่อสังคม) เนื่องจากผู้ร่างหลักสูตรเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน แต่ถ้ามองในระดับโลก กฎหมายจะช่วยให้ข้อพิพาทระงับได้ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พูดถึงการปฏิรูปด้านกฎหมาย ดังนั้น การเรียนการสอนกฎหมายของไทยจึงต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะลดการเลคเชอร์ให้น้อยลง มุ่งไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น รวมถึง มุมมองการใช้กฎหมายที่ไม่เน้นการต่อสู้เพื่อเอาชนะ แต่เน้นการไกล่เกลี่ย และปรองดอง โดยให้นิสิตนำความรู้ที่ได้ไปช่วยพยุงสังคม ไม่ใช่เน้นท่องจำเพื่อสอบเป็นอัยการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image