ศิลปินไทย-ไต้หวัน ใช้ ‘เรือหัวโทง’ เป็นแรงบันดาลถ่ายทอดงานศิลปะ

นาย จาง เกิ่ง หวา หนึ่งในศิลปินไต้หวันที่เข้าร่วมงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก THAILAND BIENNALE, KRABI 2018 ที่ จ.กระบี่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เปิดเผยว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะมีความสนใจเรื่องเรือหัวโทง เป็นเรือประมงแบบท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย นิยมใช้ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันในการเดินทาง โดยเฉพาะที่ จ.กระบี่ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จึงเกิดความประทับใจในเรือหัวโทง ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สอดแทรกอยู่ในประเพณี และวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน และการคมนาคมทางน้ำของ จ.กระบี่ นำมาเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดงานศิลปะ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนมีความยาวประมาณ 24 เมตร ภายในอู่ต่อเรือของนายหมาดเหรบ กุลมาศ หรือบังเสน ช่างต่อเรือหัวโทง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

นาย จาง เกิ่ง หวา กล่าวว่า เรือหัวโทงเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกพันอยู่กับวีถีชีวิต และการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ มุมมองที่เห็นเรือซึ่งถ่ายด้วยกล้องพาโนรามา มีความแปลกตา และนำไปสู่แนวคิดในการสร้างผลงานที่ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงให้เกิดขึ้น ประติมากรรมเรือหัวโทงชิ้นนี้ ต้องการสื่อถึงกับโลกคู่ขนานระหว่างความจริง และความฝัน ภายใต้แนวคิด สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์ (Edge of the Wonderland) เมื่อเสร็จแล้วจะนำไปติดตั้งยังบริเวณสวนสาธารณะธารา เพื่อร่วมพิธีเปิดในวันที่ 2 พฤศจิกายน

น.ส.ยุรี เกนสาคู ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย กล่าวว่า โจทย์ของงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก THAILAND BIENNALE, KRABI 2018 คำว่า EDGE Of The WONDERLAND ความเป็นสุดขอบมันคาบเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความเป็น ความตาย ทำให้นึกถึงเรือหัวโทง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในวิถีชีวิตของชาวกระบี่ เรือคือดินแดนที่ลอยอยู่ในน้ำ และเป็นการก้าวไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติของ จ.กระบี่ ผลงานชิ้นนี้ว่า “NAKABI” เป็นการเล่นคำ ซึ่งหมายถึงพญานาคแห่งเมืองกระบี่ เปรียบได้กับพาหนะในการเดินทางไปสู่ WONDERLAND ต่างๆ ด้วยภาพวาดเรื่องราวตำนานของ จ.กระบี่ ตัวละครเอกจะมีนางเบญจา ยักษ์ และพญานาค นอกจากสีสันสดใสภายในเรือ หัวเรือซึ่งเป็นพญานาคจะใช้เป็นสีรุ้ง เพื่อสื่อถึง Wonderland ส่วนด้านนอกของเรือจะทาสีเงิน และคอนลาจด้วยแผ่นสแตนเลส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image