หญิงสหรัฐ-หมอไทยในอเมริกา คืนวัตถุโบราณ 38 รายการ พระพุทธรูป 800 ปี โผล่ที่ ม.อังกฤษ (คลิป)

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยในรัฐบาลชุดนี้ได้รับโบราณวัตถุคืนแล้ว 6 ครั้ง โดย 5 ครั้งจากสหรัฐอเมริกา และ 1 ครั้งจากออสเตรเลีย รวมโบราณวัตถุที่ได้คืนแล้ว จำนวน 705 รายการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบกรณีชาวต่างชาติ และคนไทยในสหรัฐ มีความประสงค์จะส่งคืนโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในไทย 2 กรณี รวม 38 รายการ

นายวีระกล่าวอีกว่า กรณีที่ 1 จำนวน 16 รายการ โดยนางลิเซต คริสเตียนเซน ชาวสหรัฐ ประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุ 16 รายการกลับคืนสู่ไทย โดยแจ้งว่านายดอน คริสเตียนเซน บิดาของสามี เป็นผู้สะสมโบราณวัตถุ และได้ซื้อโบราณวัตถุดังกล่าวเมื่อครั้งเป็นนักการทูตสหรัฐประจำกรุงจาการ์ตา ซึ่ง ดร.จอยซ์ ไวท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบ้านเชียง และผู้อำนวยการ Institute for Southeast Asian Archaeology มหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้พิจารณาเบื้องต้นจากภาพถ่ายโบราณวัตถุดังกล่าว มีความเห็นว่า เป็นรูปแบบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง แต่ไม่สามารถระบุจากภาพถ่ายได้ว่ามีการลงสีใหม่ หรือซ่อมแซมหรือไม่ โดยเสนอแนะให้ส่งคืนให้กับไทย สำหรับโบราณวัตถุ 16 รายการ ได้แก่ กำไลสำริด 3 รายการ ชิ้นส่วนกำไลสำริด 1 รายการ กระดิ่งสำริด 1 รายการ ภาชนะดินเผา 8 รายการ และลูกกลิ้งดิน 3 รายการ

นายวีระกล่าวต่อว่า กรณีที่ 2 จำนวน 22 รายการ ได้แก่ นพ.ศานติ วิบูลมงคล ชาวไทยที่อาศัยในสหรัฐ ประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุ 22 รายการกลับคืนสู่ไทย โดยแจ้งว่าได้รับมอบมาจากทายาทของผู้ครอบครองซึ่งถึงแก่กรรม ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นโบราณวัตถุที่นำออกจากไทยเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพิจารณาจากกระดาษหนังสือพิมพ์ไทยที่ใช้ห่อโบราณวัตถุดังกล่าว ระบุวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.1976 หรือ พ.ศ.2519 ซึ่ง ดร.จอยซ์ ไวท์ ได้ตรวจสอบแล้วเห็นสมควรให้ส่งคืนไทย สำหรับโบราณวัตถุ 22 รายการ ได้แก่ ภาชนะดินเผา 20 รายการ ช้อนดินเผา 1 รายการ และเบ้าดินเผา 1 รายการ

“ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ได้ศึกษาโบราณวัตถุทั้ง 2 กรณี มีความเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในไทย และควรนำกลับ โดยที่ประชุมมติเห็นชอบให้รับคืนโบราณวัตถุกลับสู่ประเทศไทย” นายวีระ กล่าว

Advertisement

นายวีระกล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ซึ่งได้ศึกษาโบราณวัตถุ 47 รายการ จากบัญชีโบราณวัตถุ 133 รายการ ที่จะติดตามกลับคืนสู่ไทย ซึ่งผลการศึกษาจาก 47 รายการ พบว่า มีโบราณวัตถุ 41 รายการ ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในไทยอย่างแน่ชัด และมี 6 รายการ ที่คณะอนุกรรมการวิชาการฯ มีความเห็นควรให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของโบราณวัตถุ

นายวีระกล่าวว่า สำหรับโบราณวัตถุ 41 รายการ ได้แก่ ประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย 9 รายการ อาทิ พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ 4 กร, พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นต้น ประติมากรรมกลุ่มศรีเทพ 2 รายการ ได้แก่ เศียรพระกฤษณะ (หรือพระวิษณุ), เศียรพระหริหระ ประติมากรรมศิลปะทวารวดี 30 รายการ อาทิ พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ, พระพิมพ์พระพุทธรูปปางสมาธิใต้ต้นโพธิ์, พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม, เศียรพระพุทธรูป, พระพุทธรูปปางนั่งแสดงธรรม, พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ, พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี, ศีรษะบุรุษ เป็นต้น

Advertisement

“ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมศิลปากรทำหนังสือไปถึงสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามโบราณวัตถุ 41 รายการ กลับคืนสู่ไทยอย่างเป็นทางการ” นายวีระ กล่าว

นายวีระกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ศึกษาแหล่งที่มาของโบราณวัตถุอีก 57 รายการ ที่ยังไม่ได้ศึกษาจากบัญชีโบราณวัตถุ 133 รายการ ได้แก่ โบราณวัตถุศิลปะทวารวดี 15 รายการ อาทิ ธรรมจักร, พระพิมพ์, พระพุทธรูปยืน, เศียรเทวดา, แผ่นทองคำดุนลวดลาย เป็นต้น ศิลปะศรีวิชัย 10 รายการ อาทิ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี, เศียรพระวิษณุ เป็นต้น ศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) 17 รายการ อาทิ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, พระพุทธรูปนาคปรก, เศียรเทวดาทรงเครื่อง เป็นต้น ศิลปะล้านนา สุโขทัย และอยุธยา 15 รายการ อาทิ ประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถาน, เศียรพระศิวะ, พระพุทธรูปปางมารวิชัย (สี่ทิศ), พระพุทธรูปปางมารวิชัย, แผ่นทองคำดุนลวดลาย เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ รายงานผลการศึกษาตามขั้นตอนต่อไป

นายวีระกล่าวต่อว่า นอกจากการทวงคืนโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ขณะนี้ยังได้รับการประสานงานจากคนไทยในสหราชอาณาจักร ซึ่งพบหลักฐานโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูป ตั้งโชว์อยู่ภายใน SOAS University of London หรือมหาวิทยาลัย SOAS สหราชอาณาจักร คาดว่าจะเป็นของไทย โดยผู้แจ้งได้ส่งรูปภาพถ่ายมาให้กรมศิลปากรตรวจสอบ เมื่อนำรูปภาพมาเทียบเคียงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ได้ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะลพบุรี ซึ่งเป็นศิลปะแบบเขมรในประเทศไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 หรือมีอายุมากถึง 700-800 ปีมาแล้ว ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ตรวจสอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของยุคดังกล่าวที่หายไป พร้อมทั้งศึกษารายละเอียด และหลักฐานของโบราณวัตถุที่พบ ภายใน มหาวิทยาลัย SOAS เพื่อนำมาเทียบเคียง และสรุปผล ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทวงคืนกลับสู่ประเทศไทยต่อไป

นายวีระกล่าวว่า หลังจากตั้งคณะกรรมการติดตามฯ พบว่าแนวโน้มผู้ที่ประสงค์จะส่งคืนโบราณวัตถุกลับคืนไทยจะมีเพิ่มขึ้น เพราะเห็นแล้วว่ารัฐบาลไทยเอาจริง ส่วนโบราณวัตถุที่กลับคืนสู่ไทยทุกรายการ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการอนุรักษ์ จัดแสดงให้ความรู้ทั้งในส่วนกลาง และแหล่งกำเนิดโบราณวัตถุ ตลอดจนมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดสัมมนาระดับชาติ เรื่องการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ มาบรรยายถ่ายทอดความรู้แนวทางการดำเนินการ จากนั้นจะส่งกลับไปจัดแสดงถาวรยังแหล่งกำเนิดของโบราณวัตถุ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image