ม.ดังค้าน ‘นายก-กก.’ สภายื่นบัญชีทรัพย์สิน ‘ป.ป.ช.’ หวั่นพาเหรดไขก๊อกเกิด ‘เดดล็อก’

จากกรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้ว แต่ยังรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) อีกด้วยนั้น

น.ท. สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีผ่ายบริหาร  คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากรายงานข้อมูลผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วน อาจเจอข้อหารายงานข้อมูลเท็จ ส่งผลกระทบในเรื่องอื่น ๆ ตามมา  ที่สำคัญกรรมการสภา ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะมีอำนาจในการอนุมัติ แต่ก็เป็นเพียงการอนุมัติทางวิชาการ เช่นอนุมัติหลักสูต อนุมัติปริญญา เป็นต้น   เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือนจะได้เพียงเบี้ยประชุมครั้งละประมาณ 3,000 บาทเท่านั้น ส่วนตัวเชื่อว่า แต่ละคนที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการสภาฯ   อยากทำเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิ บางคนเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มีสถานะทางการเงินดีอยู่แล้ว ก็คงไม่อยากมายุ่งยากกับเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะต้องให้ภรรยา หรือคนที่อยู่ด้วยกัน แม้ไม่ได้สมรส หรือกระทั่งบุตร ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย ถือว่ามีความยุ่งยากมาก  เชื่อว่าต่อไปจะมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยลาออก และทำให้สภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง เกิดสภาวะ เดดล็อก (dead lock) คือไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ เพราะมีกรรมการสภาฯไม่ครบองค์ประกอบ ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าป.ป.ช.ควรดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตมากกว่า

นายมนตรี  นุ่มนาม  กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ  มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์(มรร.) กล่าวว่า ตนเป็นกรรมการสภาฯ ที่มาจากภาคเอกชน เข้าไปทำงานเพราะอยากช่วยพัฒนาด้านการศึกษา ให้คำแนะนำมหาวิทยาลัยให้สามารถผลิตบัณฑิต ได้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง  การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งส่วนตัวประกอบธุรกิจโรงงานผลิตโคมไฟฟ้า มานานกว่า 30 ปี และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง มูลค่าเป็นร้อยล้าน  การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร หากขาดส่วนใดไปโดยไม่ตั้งใจ อาจทำให้ถูกอายัดเงิน กระทบต่อการทำธุรกิจ ทำให้เกิดความยุ่งยาก ได้ไม่คุ้มเสีย  ที่สำคัญลากภรรยา และบุตรให้ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วย ถือว่าไม่ใช่เรื่อง

“เมื่อกฎหมายประกาศออกมาแบบนี้ ผมก็คงต้องลาออก  ถ้าเฉพาะตัวผมคนเดียวก็อาจอยู่ต่อ แต่ให้ลากภรรยาและลูก แสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย ก็คิดว่าคงไม่สะดวก  ถ้าภรรยา หรือลูกผมลืมเอกสาร แจ้งข้อมูลพลาดก็อาจถูกอายัดทั้งครอบครัว กระทำธุรกิจ เพราะต้องมีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา ซึ่งถ้ายุ่งยากแบบนี้ผมคนเดียวลาออกดีกว่า ไม่เอาครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลออกกฎหมายมาเช่นนี้ ผมเองรู้สึกผิดหวัง  และได้คุยกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เป็นนักธุรกิจด้วยกัน หลายคนก็คิดว่า  จะลาออกเพราะไม่อยากยุ่งยาก เป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าผมเป็นข้าราชการ ก็คงทำตามกฎหมาย แต่ผมไม่ใช่ ผมมีธุรกิจของตัวเอง และไม่อยากให้ครอบครัวเข้ามายุ่งยาก”นายมนตรีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image