เสียงโอดครวญจาก..นายกสภา-กก.สภา-อธิการบดี ทำไม?? ต้องยื่นบัญชี ‘ทรัพย์สิน-หนี้สิน’

หมายเหตุ…จากกรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยประกาศดังกล่าว กำหนดให้ นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้ง ตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต “มติชน” เห็นว่าน่าสนใจ จึงสัมภาษณ์ความเห็นผู้เกี่ยวข้องมานำเสนอ

๐ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

“ยอมรับว่ากังวล กฎหมายนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยเสียกรรมการสภาที่ดี มีคุณภาพ ช่วยให้ข้อแนะนำพัฒนามหาวิทยาลัยไปหลายคน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคเอกชน แต่รวมถึง กรรมการสภาโดยตำแหน่งอื่นๆ ด้วย เพราะไม่มีใครอยากยุ่งยากกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ผมอยากให้ ป.ป.ช.แก้ไขกฎหมายนี้ เพราะสภาไม่มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องเงินเลย การที่กรรมการสภาต้องรายงานบัญชีทรัพย์สิน ถือเป็นความยุ่งยาก เพราะผู้ทรงคุณวุฒิบางคน ก็เข้ามาทำงานคนเดียว ไม่มีทีมเข้ามาช่วยดูแลเรื่องเอกสารต่างๆ และแต่ละคนที่เข้ามา เพราะอยากช่วยพัฒนาการศึกษา ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เข้ามาแสวงหาประโยชน์

Advertisement

หากผู้แทนจากภาคเอกชนลาออกหมด จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นระบบปิด ไม่มีความหลากหลายจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน เพราะเคยแจ้งแล้วตอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และตอนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งก็เพียงนำข้อมูลมาปรับให้เป็นปัจจุบัน จึงไม่ถือว่ายุ่งยาก แต่หากคนไม่เคยทำ ก็จะยุ่งยากพอสมควร”

๐พระเมธีธรรมาจารย์
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

Advertisement

“มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่มีปัญหา ก่อนหน้านี้ตอนที่ ป.ป.ช.กำหนดให้เพิ่มตำแหน่งอธิการบดีต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ด้วยนั้น พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร ในสมัยนั้น ได้ทำเรื่องทรัพย์สิน และหนี้สิน ยื่นต่อ ป.ป.ช.ปรากฏว่า ป.ป.ช.ตอบกลับมา ว่าในส่วนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มจร และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อ ป.ป.ช.กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ด้วย ครั้งนั้นกฎหมายไม่ได้ยกเว้น มจร และ มมร ส่งผลให้รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.กระทั่งมาถึงครั้งนี้ที่ ป.ป.ช.กำหนดให้นายกสภา กรรมการสภา และอธิการบดี ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ด้วย โดยไม่ได้ยกเว้นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ฉะนั้น เท่ากับว่าอธิการบดี รองอธิการบดี นายกสภา และกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.

ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่มีปัญหา เพราะอย่างอาตมาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเป็นรองอธิการบดี มจร ในช่วงที่พระพรหมบัณฑิต เป็นอธิการบดี มจร ครั้งที่ 2 เมื่อพระพรหมบัณฑิตครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร ส่งผลให้อาตมาต้องพ้นจากตำแหน่งรองอธิการบดีตามไปด้วย อาตมาได้ทำบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้ว และครั้งที่ 3 เมื่ออาตมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดี มจร ในคณะของพระราชปริยัติกวี อธิการบดี มจร คนปัจจุบัน อาตมาก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว”

๐รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“ในความคิดเห็นของผม การที่อธิการบดีต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา หรือผลกระทบอย่างไร แต่ประกาศของ ป.ป.ช.ที่ออกมา มองได้ 2 มุม คือ มุมของผู้ที่ออกกฎหมาย เข้าใจว่ามีเจตนาที่ดี อยากให้มีความโปร่งใส แต่ฝ่ายที่ถูกบังคับให้ไปชี้แจง อาจจะรู้สึกถูกเพ่งเล็ง อีกทั้ง ตำแหน่งนายกสภา และกรรมการสภานั้น เข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ได้ยุ่งกับการบริหารงาน ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง หรือมีประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ และคนเหล่านี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีฐานะ มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และได้รับการยอมรับจากสังคม คงไม่มีใครจะมาหาประโยชน์จากมหาวิทยาลัย ที่ยอมทำหน้าที่นี้เพื่อช่วยเหลือส่วนรวม ช่วยเหลือมหาวิทยาลัย

การที่ให้บุคคลเหล่านี้มาแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน เข้าใจว่าเป็นความประสงค์ดีของฝ่ายบ้านเมือง เพราะอยากให้ทุกฝ่ายทำงานอย่างโปร่งใส แต่ต้องคำนึงว่ากรรมการสภาที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเพราะอะไร เรื่องนี้ต้องดูให้รอบคอบ ถ้าให้กรรมการสภาแสดงทรัพย์สิน กรรมการสภาเหล่านี้คงไม่มีอะไรจะปิดบัง เพียงแต่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นความยุ่งยาก ลำบาก และหลายคนเกิดความกังวลว่า ถ้าลืมแจ้งไปบางรายการโดยไม่เจตนา จะมีความผิด ในขณะที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่มาเสี่ยงต่อการรับผิด

ส่วนตัวเชื่อว่าอาจจะเป็นการทำลายความรู้สึกของผู้ที่เป็นกรรมการสภา บุคคลเหล่านี้อาจจะทบทวนว่าจะรับตำแหน่งนี้ต่อไปหรือไป วันนี้ตอบไม่ได้ว่าใครจะเป็นกรรมการสภาต่อ หรือไม่เป็นต่อ แต่มีข้อสังเกตว่าถ้ากรรมการสภาลาออก จะมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยต้องหากรรมการสภาใหม่ ทำให้การดำเนินการของสภา และของมหาวิทยาลัยชะงักไประยะหนึ่ง อีกทั้ง จะหาบุคคลที่มีความสามารถมาทดแทนคนเดิมได้หรือไม่ และถ้าหาคนมาทดแทนไม่ได้ บทบาทของสภาที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยก็จะลดลง ถือเป็นผลเสียต่อส่วนรวม”

๐กรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนม

“ประกาศของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ ที่ให้อธิการบดี นายกสภา และกรรมการสภา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน รวมทั้ง ภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งตำแหน่งผู้บริหารอย่างอธิการบดี จำเป็นต้องเเจ้งบัญชีอยู่เเล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมนายกสภา และกรรมการสภา ถึงต้องเเสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย เนื่องจากกรรมการสภามีหน้าที่ดูแล และกำหนดนโยบาย ออกระเบียบข้อบังคับให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ปฏิบัติ และออกติดตามประเมินผล ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานมหาวิทยาลัย การจัดซื้อจัดจ้าง หรือมีผลประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

บุคคลเหล่านี้มาทำงานด้วยความเสียสละ เมื่อมาช่วยงานมหาวิทยาลัย แต่ต้องเจอเรื่องลักษณะนี้ บางคนอาจจะลาออก ซึ่งจะกระทบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างมาก หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถหากรรมการสภามาทดแทนได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image