ทิ้งเก้าอี้!! ‘ภาวิช’ มึน กก.สภา ม.นครพนมเปรยทิ้งเก้าอี้ เชื่อหลัง 1 ธ.ค.ออกเพียบถ้าต้องยื่นทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้ง ตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว แต่ยังรวมถึง นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ว่า ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัย ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินประกอบด้วย นายกสภา กรรมการสภา และอธิการบดี สิ่งที่ตามมานั้น สร้างผลกระทบบางอย่างแน่นอน

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิชกล่าวอีกว่า ในส่วนของอธิการบดีนั้น คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องแจ้งอยู่แล้ว ส่วนที่เดือดร้อน และเป็นปัญหา คือนายกสภา และกรรมการสภา โดยเฉพาะกรรมการสภา เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ยุ่งกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่เสนอ และแนะนำนโยบายของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีโอกาสที่จะรับเงิน หรือมีโอกาสที่จะร่ำรวยผิดปกติ เพราะไม่ได้ยุ่งกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และผลตอบแทนที่ได้มีเพียงเบี้ยประชุมที่เป็นไปตามระเบียบราชการเท่านั้น อีกทั้ง การทำงานของสภาในปัจจุบัน ภาระงานมาก ทำให้กรรมการสภาบางส่วนเห็นว่า เมื่อมาทำงานเสียสละ กลับมีภาระเพิ่มเติมโดยต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินอีก ทำให้กรรมการหลายคนเริ่มพูดคุยกันว่าไม่อยากจะทำหน้าที่นี้แล้ว

“อย่างมหาวิทยาลัยนครพนมที่ผมเป็นนายกสภา ขณะนี้มีกรรมการสภาบางคนเริ่มคุยกันเรื่องลาออกแล้ว เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องแจ้ง เนื่องจากไม่มีส่วนได้เสียกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าหลังจากวันที่ 1 ธันวาคม จะมีกรรมการสภาลาออกจำนวนมาก ต่อไปมหาวิทยาลัยจะหากรรมการสภามาทดแทนยากมากขึ้น จะสร้างปัญหาให้กับอุดมศึกษาทั้งระบบ สรุปแล้วประกาศของ ป.ป.ช.ที่ออกมานั้น จะได้ไม่คุ้มเสีย และไม่เห็นจะมีข้อดีอย่างไร” ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image