9 มทร.ยื่นหนังสือถึง ‘ป.ป.ช.’ ทบทวนกก.สภาฯยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ความคืบหน้ากรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้ง ตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว แต่ยังรวมถึง นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นั้น

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมทร. กล่าวว่า มทร. ทั้ง 9 แห่งได้หารือกันในเบื้องต้น และมีมติทำหนังสือ ขอให้ป.ป.ช.ทบทวนกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะยื่นให้ป.ป.ช.พิจารณาในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้  ขณะเดียวจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมทปอ.มทร. ด้วย ทั้งนี้มทร.เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ทำให้กรรมการในสภามหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของประเทศ และตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ  และกรรมการสภาไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินใดๆทั้งสิ้น หากกฎหมายนี้บังคับใช้จะทำให้สภาฯ เดือดร้อน

“ในส่วนของมทร.อีสาน ขณะนี้มีกรรมการสภาฯ ประมาณ 7-8 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกรรมการสภาฯ ทั้งหมด มีความกังวลและได้ยื่นความยื่นความจำนงขอลาออกแล้ว  ดังนั้นหากไม่มีการทบทวนกฎหมายนี้ จะทำให้เกิดสุญญากาศ มหาวิทยาลัยไม่สามารถตัดสินเรื่องต่าง ๆ ได้ และถ้าต้องสรรหาสภาฯใหม่ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบให้การบริหารงานในมหาวิทยาลัยเกิดความสะดุดลงชั่วคราว”นายวิโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image