‘หมอธี’เตรียมถก ป.ป.ช.หาทางออก หลังกก.สภา แห่ลาออก

กรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้ง ตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว แต่ยังรวมถึง นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นั้น

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจน โดยทำหนังสือถึง ป.ป.ช. เพื่อขอทบทวน แก้ไขกฎหมายดังกล่าว ไม่ทราบว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน และเร็วๆ นี้ ตนและนพ.อุดม จะหารือกับ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว และขณะนี้ ทราบว่ามีภาคเอกชนที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย ในสถาบันอาชีวศึกษา มีปัญหาที่จะต้องเปิดเผยทรัพย์สิน ก็แสดงเจตจำนงจะยื่นลาออกเป็นจำนวนมาก หากทบทวนไม่ได้ก็ต้องตั้งสติดูว่าจะทำอย่างไรต่อ อย่าเพิ่งให้ตนตอบ เพราะการที่ป.ป.ช.ออกประกาศฉบับนี้เป็นสิทธิของป.ป.ช. เช่นกัน จุดนี้จะไปบังคับป.ป.ช.ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการศึกษา หากเรื่องนี้ไม่สามารถทบทวนได้จริงทิศทางตอนนี้ก็ชัดเจนว่า เราต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่ถ้าภาคเอกชนยังอยู่การศึกษาก็จะช่วยให้การศึกษาเดินหน้าดีขึ้น ตนยังไม่รู้ว่า ป.ป.ช.คิดเห็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดคุยกันมาก่อน พอออกมาก็เลยทำให้เกิดปัญหา

“ขอให้ผมเจรจากับป.ป.ช.ก่อน ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์แล้วกลายเป็นเหมือนมาว่ากัน ผมมองว่าทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นเรื่องดี แต่การแสดงออกเรื่องความโปร่งใส สามารถแสดงได้หลายแบบ และอาจจะต้องดูด้วยในหลายทาง เช่นภาคเอกชนเข้ามามีอำนาจ หน้าที่อะไร เข้ามาเป็นกรรมการสภาในฐานะอะไร ถ้าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ต้องดูว่าจะทบทวนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีการอื่นหรือไม่ เช่น ไปดูว่าต่างประเทศทำอย่างไร หรืออาจจะต้องลองสอบถามองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ถึงวิธีการทำให้โปร่งใสนั้น ใช้วิธีการประกาศทรัพย์สินส่วนตัวได้หรือไม่ ตรงนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน จะรู้เรื่องดี” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภา ข้าราชการในสังกัด ศธ. ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน หนี้สินด้วย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ขอออกความคิดเห็น

Advertisement

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า ประกาศของ ป.ป.ช.ดังกล่าว มีการพูดคุยกันอย่างมากในกลุ่มภาคเอกชนที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตนรู้สึกไม่สะดวกใจ ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่ตั้งใจเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการศึกษา ต้องมาวุ่นวายยื่นเอกสาร ล่าสุดทราบว่าหลายคนที่เป็นกรรมการสภา เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ก็ตัดสินใจจะยื่นลาออก เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image