‘หมอธี’ไม่เห็นด้วยให้เด็กชกมวยเป็นอาชีพ ชี้ทำร้ายสมอง

กรณี “น้องเล็ก” เพชรมงคล ป.พีณภัทร นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตคาสังเวียนด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง หลังพ่ายน็อก ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ ยก 3 ในการชกที่ เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สุมทรปราการนั้น

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วย ที่นำเด็กมาชกมวย มาทำเป็นอาชีพ หรือชกให้ตายไปข้างหนึ่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องไม่ดี เพราะการที่เด็กมาชกมวยถือเป็นการทำร้ายสมองเด็ก แต่ถ้าควรเล่นเป็นกีฬาคีตะมวยไทยป้องกันตัว ให้เป็นการเรียนรู้แบบง่ายๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม จะสอนอะไรก็ตาม ต้องมีวิธีป้องกันให้ดี และเป็นสากล ไม่ใช่มาต่อยกันแบบมวยวัด เป็นอะไรขึ้นมาแก้ไขไม่ได้

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้หมายมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนงานด้านการนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมการเรียนการสอนกีฬา ซึ่งก่อนหน้านี้สพฐ. ได้ดำเนินการโครงการ “ห้องเรียนกีฬา” อยู่ก่อนแล้ว แต่การนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาจะมีการจัดทำหลักสูตรเพิ่มเติม คือ หลักสูตรคีตะมวยไทย ซึ่งจะสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.6 ซึ่งหลักสูตรนี้เน้นเรื่องทักษะการออกกำลังกาย โดยใช้ท่ามวยไทย เพื่อยืดหยุ่นร่างกายเป็นหลัก

ด้าน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อนำไปใช้เป็นวิชาเลือก วิชาเพิ่มเติม โดยจะเปิดสอนใน 4 หลักสูตร คือ ฟุตบอล ยิมนาสติก ว่ายน้ำโดยเน้นการลอยตัวในน้ำ และคีตะมวยไทย โดยเฉพาะมวยไทย สพฐ.จะร่วมกับสมาคมมวยไทยแห่งประเทศไทย มาฝึกในรูปแบบคีตะมวยไทย โดยเน้นทักษะมาประยุกต์กับการออกกำลังกาย และเอาดนตรีมาประกอบจังหวะการไหว้ครู ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักวัฒนธรรมไทย จะไม่เน้นในเรื่องของการปะทะกัน หรือชกเอาแพ้เอาชนะ จะเน้นให้เด็กออกกำลังกาย ยืดหยุ่นร่างกายและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย

Advertisement

“ส่วนการสอน กีฬายิมนาสติก จะเน้นการยืดหยุ่นร่างกาย และการสอนการลอยตัวในน้ำ ก็เพื่อให้เด็กรู้จักการเอาตัวรอด สำหรับกีฬาฟุตบอลก็จะมีการพัฒนาโค้ชให้เป็นสากล แต่หลักสูตรเหล่านี้จะไม่ให้เด็กเล่นตามลำพัง เพราะจะมีการฝึกร่วมกับวิทยากรด้วย นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมการเล่นกีฬาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเปิดพื้นที่โรงเรียนให้ประชาชนได้เข้ามาใช้สนามกีฬาของโรงเรียน โดยขณะนี้พบว่ามีสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ ที่พร้อมให้ประชาชนเข้าใช้บริการ รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนใช้อุปกรณ์กีฬาของโรงเรียนได้ด้วย” นายบุญรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image