‘ศธ.’เดินหน้าพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พิเศษ พร้อมจัดงานถอดบทเรียน ‘หมูป่าอะคาเดมี่’

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ทยอยออก พ.ร.บ. เกี่ยวกับเรื่องการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษหลายรูปแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคจังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง จ.ศรีสะเกษ จ.สตูล จ.เชียงใหม่  จ.กาญจนบุรี และจ.ปัตตานี โดยได้กำหนดการดำเนินงานขับเคลื่อนเบื้องต้น เป้าหมายความเป็นอิสระของการจัดการตนเอง และเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละพื้นที่

นายบุญรักษ์ กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าของแต่ละพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ มีการกำหนดอัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ ความปลอดภัย เรื่องเครือข่าย และความเหลื่อมล้ำของการใช้ภาษาไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ กำหนดภาพใน 10 ปีหรือภาพอนาคตไว้ เช่น อยากให้เด็กศรีสะเกษ รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ และมีแนวทางเรื่องของการดำเนินงาน  ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี  กำหนดเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองที่อยู่ติดกับชายแดน ภาพที่วางไว้ คือ เรื่องการอ่านออกเขียนได้ เรื่องสัมฤทธิ์ทางการเรียน  ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของการใช้ไอซีที เข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน และการต่อยอดไปในชุมชนที่มีสินค้าโอท็อป

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ภาคตะวันออก จ.ระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงเน้นการสร้างเด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4)เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นนักนวัตกรเชื่อมโยงกับ สถาบันอุดมศึกษา โดยใช้โมเดลของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (กว.) มาช่วยจัดรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมของจ.ระยอง ส่วนภาคใต้ จ.สตูล ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม โดยจะนำร่อง 10 โรงเรียน และมีเครือข่ายเข้ามาช่วย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เข้าไปดูเรื่องหลักสูตรชุมชน โดยมีการสนับสนุน ครู ผู้ปกครอง มีครูท้องถิ่น มาช่วยดูการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเป็นอยู่ของคนใน จ.สตูล

“ส่วนกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี มีจุดเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการสร้างคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของหลักสูตร เกี่ยวกับเพาะพันธุ์ปัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายแดนใต้ มีคุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งในเดือนธันวาคม นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. จะลงไปติดตามพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 6 จังหวัด นี้อีกครั้ง” นายบุญรักษ์ กล่าว

Advertisement

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตามที่รัฐบาลได้มอบให้มีการถอดบทเรียน กรณีหมูป่าอะคาเดมี่ ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง ในส่วนภาคการศึกษา นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำการถอดบทเรียน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ปรึกษาอาจารย์อาวุโส กิตติมศักดิ์โรงพยาบาลรอยัล ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาร่วมอภิปรายกับ นพ.ธีรเกียรติ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะได้เชิญจิตแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐ และผู้บริหารของ ศธ. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image