‘ภูพระบาท’ วืด ‘มรดกโลก’!! กรมศิลป์ไม่ท้อดัน 11 แหล่งเข้าบัญชีชั่วคราว รุกเส้นทาง ‘พนมรุ้ง-เมืองต่ำ’ สู่ขั้นตอน 2

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ช่วงกลางปี 2559 คณะกรรมการมรดกโลกจะประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 40 ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี พร้อมประกาศรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สำหรับไทยที่ผ่านมาได้เสนอรายชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ทั้งนี้ สำหรับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกประเมินเอกสาร และส่งเอกสารไปให้สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของยูเนสโก และตรวจสอบเอกสาร แต่เนื่องจากเอกสารยังไม่สมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสารตามที่ ICOMOS ได้ขอให้จัดทำเอกสารเพิ่มเติม 8 รายการ อาทิ อธิบายคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของภูพระบาทเพิ่ม การกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อภูพระบาท การนำตำนานพื้นบ้านมาประกอบยังไม่โดดเด่นพอ และเสมาหินมีความแตกต่างจากแหล่งอื่นๆ อย่างไร เป็นต้น ซึ่งแม้ปีนี้จะส่งไม่ทันการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 แต่กรมศิลปากรจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อส่งให้ทันในปีถัดไป

“ในส่วนของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช และเส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ยังอยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรจะเร่งเส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ให้เข้าอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือนำเสนอเอกสารยังศูนย์มรดกโลกโดยเร็ว เพราะมีความเป็นไปได้สูงกว่าวัดพระมหาธาตุฯ” นายอนันต์กล่าว

นายอนันต์กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมศิลปากรเตรียมเสนอรายชื่อแหล่งมรดกวัฒนธรรมเพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว มีดังนี้ 1.สถาปัตยกรรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 2.ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา 3.เส้นทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งกรมศิลปากรได้รับแจ้งจากทาง จ.กาญจนบุรี ว่ายังไม่พร้อม แต่นักวิชาการหลายท่านขอให้กรมศิลปากรหารือกับทางจังหวัดอีกครั้ง เพราะเส้นทางนี้สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ แม้จะไม่เก่ามาก แต่แสดงถึงมนุษยชาติที่มีหลายบทบาทในเส้นทางนี้ 4.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ 5.วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร และเสาชิงช้า 6.วัดราชนัดดารามวรวิหาร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง 7.แหล่งโบราณคดี และแหล่งวัฒนธรรม จ.น่าน 8.แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าเชียงแสน และสุวรรณโคมคำ ซึ่งแหล่งนี้มีการถกเถียงกันมากมายเนื่องจากเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ดังนั้น จึงมีผู้เสนอว่าอาจจะเสนอเฉพาะในส่วนของแหล่งโบราณคดีเมืองเก่าเชียงแสนเท่านั้น 9.วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร 10.เส้นทางวัฒนธรรมไชยา และ 11.อนุสรณ์สถาน สถานที่ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในจ.เชียงใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image