หึ่ง!! ‘วิษณุ’ จ่อม.44 โละประกาศป.ป.ช. อาจารย์รุมค้าน จวกใช้อำนาจแทรกแซงการตรวจสอบ

กรณีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ได้มีประกาศป.ป.ช.ลงในราชกิจจานุเบกษา เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่2) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ในการขยายเวลาบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 จากเดิมบังคับใช้วันที่ 2 ธ.ค. 2561 เพิ่มเติมอีก 60 วัน จึงมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

โดยตำแหน่งที่ได้รับการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 60 วัน  รวมถึงประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า , นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยและสถาบันในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ , ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการในองค์การมหาชนนั้น

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES)  เปิดเผยว่า CHES ร่วมกับที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) , ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง (ทป.มรภ.) และกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) ออกแถลงการณ์คัดค้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่อาจเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือกดดันให้ ป.ป.ช. กลับมติ เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายการแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้และในอนาคต ด้วยเหตุผลว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และมุ่งมั่นยืนหยัดในหลักธรรมาภิบาลอย่างถึงที่สุดแล้วในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความน่าเคารพและความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรอิสระที่ต้องปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมืองใดๆ

นพ.สุธีร์  กล่าวต่อว่า การที่รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาในลักษณะเข้าข่ายการแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างโปร่งใสขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. นั้น อาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจจากตำแหน่งที่มีทางการเมืองเข้าแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลของ ป.ป.ช. ซึ่งรัฐบาลนี้ประกาศมาโดยตลอดการดำรงตำแหน่งว่าจะยึดหลักนิติรัฐในการปกครอง แต่การออกมาให้สัมภาษณ์ล่วงหน้าของรองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ แสดงให้เห็นถึงท่าทีชัดเจนที่จะสั่งการและแทรกแซงกระบวนการทำงานอย่างถูกต้องและโปร่งใสขององค์กรอิสระ อันถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักนิติรัฐที่รัฐบาลนี้อ้างถึงมาโดยตลอด และส่งผลให้ระบบธรรมาภิบาลของประเทศล้มเหลว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจะหวังพึ่งความยุติธรรมจากรองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้อย่างไร ในเมื่อการให้สัมภาษณ์ของท่านสื่อไปในทำนองสนับสนุนระบอบอภิสิทธิชนให้ดำรงอยู่ และทำลายหลักความเสมอภาคทางกฎหมายซึ่งเป็นวาระสำคัญหนึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่รัฐบาลนี้เป็นผู้ร่างขึ้นมา กลุ่ม CHES และองค์กรพันธมิตร จึงขอแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ต่อรัฐบาลและป.ป.ช.ว่า จะต้องไม่เว้นการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่ากรณีใดๆ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศนี้เป็นต้นแบบของธรรมาภิบาลอันสมบูรณ์แบบให้แก่สังคมไทยในอนาคตต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image