9 มทร.เล็งร่วมโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’

ผศ.ดร.วิโรจน์  ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยว่า  ในการประชุมคณะกรรมการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนกับผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกี่ยวกับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ถือว่าเป็นทุนที่ตอบโจทย์หลายด้าน  จากข้อมูลพบว่าทุกวันนี้เยาวชนต่ำกว่าปริญญาตรี มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา เด็กอยากเรียนต่อ แต่ด้วยทุนที่ไม่มี พ่อแม่ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งเรียน หากไปขอทุนที่ต้องกู้และจ่ายคืนเมื่อจบการศึกษา ตรงนี้เป็นการผูกภาระ และพบเด็กหนีการจ่ายทุนคืนจำนวนมาก เนื่องจากเด็กจบการศึกษามาแล้วทำงานไม่ตรงสายเรียน ได้เงินเดือนไม่ตรงเป้า แต่สำหรับกองทุน กสศ. มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ดูแลเด็กตั้งแต่แรกรับทุนแล้วจะมีคนดูแลพร้อมชี้แนะ ที่สำคัญ เด็กที่จะรับทุนต้องตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น 5 เอสเคิร์ฟ นิวเอสเคิร์ฟใหม่ เมื่อจบแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะขณะนี้มีความต้องการเด็กที่จบมามีฝีมือและมีความรู้หลายศาสตร์ กองทุนนี้จึงออกมาถูกกาลเทศะถูกวันเวลาอย่างยิ่ง ถ้าเริ่มต้นแรกของโครงการ 2,500 คนสำเร็จด้วยดี จะสามารถสร้างกำลังของบุคลากรของชาติเพื่อตอบโจทย์ พร้อมต่อยอดและยกระดับต่อไป

“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีความชัดเจนตั้งแต่เด็กเข้าโครงการ จบ ม.3 ต่อ ปวช.  ระยะเวลา 5 ปี ไม่เหมือนการให้ทุนทั่วๆ ไป เกิดประโยชน์แน่นอน ไม่เกิดช่องโหว่ เป็นเรื่องที่ดีในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศชาติ โดยเบื้องต้นได้รับในหลักการแล้ว ทาง 9 อธิการบดี จะไปดูว่าราชมงคลใดบ้างเปิดสอนต่ำกว่า ป.ตรี เพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการตามกรอบเงื่อนไขที่ กสศ. ระบุไว้ ถ้าเรามีเด็กมาต่อยอดเพื่อทำให้เกิดบุคลากรของชาติ 4.0 คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ก็อยากให้ทุกมหาวิทยาลัย ทุกสถาบันการศึกษาของประเทศเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการนี้กับทาง กสศ.” ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ รักษาการผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ข้อมูลจากงานวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติปี 2559 พบว่า ภาครัฐลงทุนค่าใช้จ่ายระดับมัธยมศึกษา(สายอาชีวะ) อยู่ที่ 5% หรือประมาณ 43,138 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยหากเทียบกับรายจ่ายในระดับการศึกษาอื่นๆ    ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. จึงเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยเสริมกลุ่มเป้าหมายนี้ โดยคิดค้นนวัตกรรมการสนับสนุนทุนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณสูงแต่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ทำให้ได้ผลประโยชน์ 3 วินคือ 1. เด็กยากจนด้อยโอกาส มีโอกาสเรียนต่อสูงขึ้น มีศักยภาพและอาชีพต่างๆ สูงขึ้น 2. สถาบันเก่งขึ้น เพราะจะช่วยกันยกระดับการเรียนการสอนสายอาชีพเป็นนวัตกรรมชั้นสูง และตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โจทย์ความต้องการของประเทศ  และ3. ประเทศชาติได้ประโยชน์ในแง่ของกำลังคนที่จะมีคนเก่งขึ้น พัฒนาประเทศและตอบโจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันที่รัฐบาลต้องการ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image