อธิการฯ เผย กก.สภามทร.ธัญบุรี จ่อไขก๊อก 5 ราย เสนอขยายเวลาบังคับใช้ไปอีก 2 ปี

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ให้ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ออกไปอัก 60 วัน จากเดิมบังคับใช้วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ขยายเป็นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 โดยได้มีการเผยแพร่ประกาศ ป.ป.ช. ฉบับที่ 2 ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ในกองทุน 2.ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด อาทิ นายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ , ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นต้น และ 3. กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐนั้น

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่ามีกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคเอกชน แสดงความจำนงที่จะลาออกจำนวน 5 ราย เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับกรรมการสภา ถึงประกาศ ป.ป.ช. ที่ออกมา และได้ขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ก่อน และขอให้รอดูทิศทางของรัฐบาลและ ป.ป.ช.ถึงแนวทางการแก้ไขต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องต่างๆ ที่ รอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลายเรื่อง เช่น การอนุมัติการจบการศึกษาของนักศึกษา การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การสรรหาคณบดี ซึ่งจะพยายามเร่งให้ดำเนินการเสร็จโดยเร็ว เพราะหากกรรมการสภา ลาออกจริง จะทำให้กระบวนการต่างๆ ค้างและหยุดนิ่งหมด ถือว่าเป็นผลเสียอย่างมากต่อมหาวิทยาลัย

“ส่วนที่มีข่าวอาจจะไม่ให้กรรมการสภาเปิดเผยบัญชีต่อสาธารณะ เพื่อให้กรรมการสภาอยู่ต่อนั้น มองว่าเปิดเผย ไม่เปิดเผย เหมือนกัน กรรมการสภาจะไม่อยู่ ซึ่งปัญหานี้ไม่มีแค่ มทร.ธัญบุรีเท่านั้น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะพบเจอปัญหานี้แทบทั้งหมด ส่วนตัวมีข้อเสนอ 2 ประเด็น ในการแก้ไขปัญหานี้ คือ ขอให้ป.ป.ช. ผ่อนปรน ยกเว้นไม่ให้กรรมการสภายื่นบัญชีทรัพย์สิน ทุกอย่างจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ มหาวิทยาลัยจะได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยต่อไป และหากยืนยันต้องยื่น อยากให้ยืดเวลาออกไป อีก 2 ปี เพื่อให้มหาวิทยาลัยเตรียมกระบวนการสรรหากรรมการสภาชุดใหม่ได้ทัน ต้องรอดูแนวทางการแก้ไขของ ป.ป.ช. ต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีกรรมการสภา ยื่นหนังสือลาออกหรือไม่ เนื่องจากตนเพิ่งกลับมาจากราชการต่างประเทศ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงาน แสดงว่ายังไม่มีกรรมการสภารายใดของมธ. ลาออก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image