อธิการบดีรามฯ เผย ‘เจ้าสัวเซ็นทรัล-นักธุรกิจ’ กังวลแจงทรัพย์สิน เหตุมีกิจการเพียบ

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปอีก 60 วัน โดยจะมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้ายังมีปัญหาอยู่อาจเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยอาจโยกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่น และเปิดเผยตามมาตรา 102 และ106 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาอยู่ในมาตรา 103 คือยื่นแต่ไม่เปิดเผยแทนนั้น

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) เปิดเผยว่า กรรมการสภา ม.ร.ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน มีอดีตข้าราชการบ้าง เมื่อมีประกาศ ป.ป.ช.ออกมา ย่อมมีผลกระทบต่อสภามหาวิทยาลัยแน่นอน ขณะนี้มีกรรมการสภา 4-5 ราย แสดงความจำนงที่จะลาออกแล้ว หรืออย่างกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจบางคน เช่น นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) และดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานกรรมการ บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนักธุรกิจคนสำคัญ และมีกิจการจำนวนมาก ได้แสดงความกังวลว่าการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นภาระอย่างหนึ่ง

“นักธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้กลัวการตรวจสอบ เพียงแต่ว่าอาจจะมีสมบัติมาก หากหลงลืมแจงรายละเอียด หรือแจ้งผิดพลาด อาจจะมีความผิดทางอาญา จึงไม่อยากเข้ามาเสี่ยงในเรื่องนี้” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

ผศ.วุฒิศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนขอให้กรรมการสภาทุกรายอยู่ทำหน้าที่ก่อน จนกว่าจะได้รับคำตอบจาก ป.ป.ช.ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ส่วนข่าวที่ออกมาว่าอาจจะให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเหมือนเดิม แต่จะไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนนั้น ไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรรมการสภาแต่ละราย แต่หากกรรมการสภาส่วนใหญ่ลาออก จะทำให้สภามีปัญหา คืออาจมีองค์ประกอบไม่ครบ จนไม่สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้ ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการอนุมัติเรื่องต่างๆ เช่น การอนุมัติและแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร การอนุมัติปริญญา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้สภาได้อนุมัติปริญญาบัตรให้บัณฑิตที่จบการศึกษาไปเเล้ว แต่ในอนาคตหากยืดเยื้อต่อไป จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้

Advertisement

“หาก ป.ป.ช.ยังยืนยันตามเดิม มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเริ่มคิดหาทางออกแล้ว สำหรับผมมองว่าไม่เป็นผลดี เพราะกรรมสภาผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ เวลาเข้ามาร่วมประชุม ผมเองที่เป็นอธิการบดีต้องเกรงใจ แต่ถ้าในอนาคตไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือมหาวิทยาลัย ผมอาจจะเลือกใครก็ได้ที่ผมสามารถสั่งการได้เข้ามาเป็นกรรมการสภา ซึ่งมันไม่มีประโยชน์อะไร และผมไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น ผมอยากหาคนที่มาคานอำนาจผมมากกว่า และต่อไปจะหากรรมการสภาจากภาคเอกชนยากแน่นอน ที่จริงผมเริ่มทาบทามบางแล้ว และหลายท่านปฏิเสธ ไม่ขอเข้าร่วม และตอนนี้สังคมกำลังเข้าใจผิดว่ากรรมการสภาจากภาคเอกชนกลัวการตรวจสอบ ซึ่งไม่จริง คนที่อยู่ในวงการธุรกิจหลายคนเป็นคนที่มือสะอาดมาโดยตลอด ไม่กลัวที่จะยื่น เพียงแต่ว่ามีทรัพย์สินเยอะ อีกทั้ง ภรรยา และลูกต้องเเจ้งด้วย เป็นการสร้างความลำบากมากกว่า” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image