สมศักดิ์ จินาพันธ์ ตอบชัดๆ… การศึกษาไทย ทำไมต้อง”สิงคโปร์”

อีกครั้งที่มีการเอ่ยถึงการปฏิรูปการศึกษา เมื่อที่ประชุม กรธ.เห็นพร้อมว่าควรกำหนดหลักการสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจ โดยกำหนดหลักการสำคัญให้การศึกษามุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติและสามารถศึกษาได้ตามความถนัดของตน

หลังจากเมื่อปีกลาย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เผยผลการจัดอันดับคุณภาพโรงเรียน โดยดูจากคะแนนสอบในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาจาก 76 ประเทศ ห้าอันดับแรกเป็นของชาติในเอเชียทั้งหมด

สิงคโปร์มาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยฮ่องกง เกาหลีใต้ ส่วนเวียดนาม อันดับ 12

ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 47

Advertisement

หลักสูตรการศึกษาแบบสิงคโปร์นาทีนี้จึงเหมือน

มีสปอตไลต์ฉายจับ

“การประเมินการศึกษาเด็กไทย ไม่ใช่ว่าชนะการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้วจบ แต่ต้องดูว่าอีก 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทยเป็นอย่างไร

Advertisement

…ยิ่ง เปิดประชาคมอาเซียน เด็กในเมืองถือว่าเสียเปรียบเด็กชายขอบ เพราะนอกจากเป็นภาษาไทย อังกฤษแล้ว ยังได้เปรียบในการใช้ภาษาที่ 3 ได้”

สมศักดิ์ จินาพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติประภามนตรี-สิงคโปร์ วัย 40 ปี โรงเรียนน้องใหม่ในเครือ “ประภามนตรี” ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.เขมสิริ

และ ดร.เจต ประภามนตรีพงศ์ คือผู้หนึ่งที่เข้าใจข้อดีข้อด้อยของระบบการศึกษาหลักสูตรสิงคโปร์อย่างถ่องแท้

สมศักดิ์ เป็นบุตรชายของ คุณพ่อ-บุญสม และ คุณแม่-สมนึก จินาพันธ์ สมรสกับ อัปสร ประภามนตรีพงศ์ บุตรสาวคนโตของ ดร.เจต และ ดร.เขมสิริ ประภามนตรีพงศ์

ศิษย์ เก่าโรงเรียนบดินทรเดชา หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นรัฐศาสตรบัณฑิต จากรั้วพ่อขุน เข้าทำงานที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่ระยะหนึ่ง จึงตกลงใจพาตัวเองออกไปรู้จักกับโลกภายนอก โดยเลือกเมืองลุงแซมเป็นจุดหมาย

ด้วยเหตุผลที่ว่า “อยากรู้ว่าอเมริกาเป็นอย่างไรถึงได้เจริญ จึงเป็นผู้นำของประเทศต่างๆ ในหลายๆ ด้าน”

ไม่ เพียงวุฒิมหาบัณฑิตด้านระบบสารสนเทศ (Information System) 2 ใบซ้อน จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล มิชิแกน และมหาวิทยาลัยอัลบานี ที่มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ระหว่างนั้นได้ทำงานในกรมประมวลข่าวกรองและงบ ประมาณ ที่สำนักแผนและนโยบายข่าวและงบประมาณของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลงบประมาณและนโยบายทางด้านไอทีทั้งหมดของมลรัฐนิวยอร์ก

“ผมขึ้นตรงต่อ ชิฟ อินฟอร์เมชั่น ออฟฟิศ หรือซีไอโอ ของนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์กจะแยกการปกครอง การทำงานจะมีการปรึกษาหารือในเรื่องการวางระบบ ฉะนั้น สิ่งที่เรารับรู้ไม่ใช่งานไอทีอย่างเดียว แต่เป็นงานไอทีที่ซัพพอร์ตในเรื่องต่างๆ ในเรื่องสุขภาพ การศึกษา การปกครอง ฯลฯ ฉะนั้นเราได้เห็นองค์รวมของเขาทั้งหมด และส่วนหนึ่งคือเรื่องการศึกษา”

สมศักดิ์เล่าถึงประสบการณ์ตรงจากการทำงานในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งหลังจากภรรยาขอให้เข้ามาช่วยงานด้านการศึกษาที่บ้าน เขานำสิ่งที่ได้มาเป็นฐานส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการระบบไอทีที่โรงเรียน นานาชาติสิงคโปร์ ซึ่งเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมประถม

จาก จำนวนนักเรียนเพียง 7 คน เมื่อปีแรก (2557) ปีที่ 2 มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 40 กว่าคน ด้วยความเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญและมุ่งมั่นที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ของสังคม ที่มีความเป็นเลิศทั้งในด้านวิชาการ ชีวิต สังคมและอารมณ์

ไปฟังแง่คิดการบริหารจัดการการศึกษาไทยของคนหนุ่มรุ่นใหม่ในอีกมุม

 เอาอะไรจากอเมริกากลับมา?

สิ่งที่เราได้กลับมาเลยคือ แนวคิด แรงจูงใจ สิ่งที่เราเชื่อว่ามนุษย์สามารถ achieve ได้ทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้มาจากการปลูกฝังเด็ก คิดในลักษณะที่คุณสามารถรักษาคุณค่าของคุณได้ คุณค่าของวัฒนธรรม คุณค่าของตัวคุณ คุณค่าของคนอเมริกันอยู่ที่ตรงไหน เช่น อเมริกันอาจจะไม่ได้ร้องเพลงชาติทุก 8 โมงเช้า แต่เขาก็ร้องเพลงชาติได้ทุกเวลา ทุกคนภาคภูมิใจที่เป็นคนอเมริกัน

รูป แบบของสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราสามารถดึงมาใช้ได้ แต่อาจจะไม่ทั้งหมด แต่สิ่งที่ได้กับตัวผมมีมากทีเดียว เรื่องของการดำรงชีวิต การแบ่งเวลา การใช้ชีวิตที่เราเข้าใจชีวิตมากขึ้นว่า คนเรามีวินาทีนี้เท่านั้น วินาทีหน้าคือความฝันและจินตนาการ ฉะนั้น ถ้าคุณขาดความฝันและจินตนาการ วินาทีหน้าคุณจะทุกข์มากๆ

ตอนที่ภรรยาชวนกลับมาช่วยงานที่โรงเรียนคิดอย่างไร?

จริงๆ การทำงานในครอบครัวเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่แล้วในฐานะที่เราเป็นลูกเขย ขณะเดียวกันกับสิ่งที่อยากจะเรียนรู้เมื่อถึงจุดหนึ่งตัวเลขไม่ได้เป็นคำตอบ ของชีวิต เราได้เห็นสิ่งที่อยากเห็น “มี” เกือบทุกอย่าง เราพอใจแล้ว แฮปปี้กับชีวิตที่เรามี สิ่งที่เหลือคือทำอย่างไรเราจะให้กับสังคม ให้กับคนอื่นได้มากขึ้น

การศึกษาเป็นช่องทางหนึ่ง เพราะเคยคิดว่าทำไมจึงมีคนไม่ดี ทำไมคนจึงฆ่ากัน ฯลฯ ถ้าเรามีมนุษย์ที่เป็นคนดี สามารถเกื้อกูลอยู่อาศัยซึ่งกันและกันได้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมเปลี่ยนไป เราเชื่อว่าเรื่องการศึกษาจะเปลี่ยนคนได้ แม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม

ก่อนไปศึกษาต่อบอกว่าอยากเห็นอเมริกา สิ่งที่เห็นเป็นอย่างไร?

อันดับแรกแนวคิดของคน การบริหารเวลาบริหารคนอย่างไร เราเห็นทั้งด้านดีและไม่ดี ได้เห็นคนไม่มีบ้าน การจัดหาสวัสดิการทางด้านสังคมของรัฐบาล ทำอย่างไรจะทำให้มีความสมดุลของสิ่งเหล่านี้ เช่น ที่โอเรกอนมีเด็กติดยาเด็กใจแตกหนีออกจากบ้านเยอะนะครับ จึงต้องมีศูนย์ดูแลสำหรับคนที่ติดยาโดยเฉพาะ เราได้เห็นการปรับตัวเข้ากับสังคมกับชุมชนของเขาว่าทำอย่างไร

ขณะเดียวกันเราได้เห็นการทำงานของหน่วยงานของรัฐด้วย เขาดูแลเด็ก ไม่ได้ดูแลแค่เรื่องวิชาการอย่างเดียว คนที่เป็นครูต้องดูแลด้วยว่าเด็กคนนี้มีเคมีทางสมองเป็นอย่างไร ข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กจะเอามาเสริมให้ ไม่ได้แค่เรื่องวิชาการอย่างเดียว

ตอนที่กลับมาใหม่ๆ มองการศึกษาไทยอย่างไร?

อันดับแรกผมได้รับหน้าที่ดูแลเรื่องระเบียบวินัยเด็ก เรามองว่าการมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญ อเมริกาที่เรามองว่าเป็นเมืองที่มีอิสระเสรี แต่เขามีระเบียบวินัยมาก วิธีของเขาไม่ได้ใช้ไม้ตี ไม่ได้เฆี่ยน แต่เขาสอนให้เข้าใจให้รู้จักหน้าที่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราเอามาใช้กับสังคมไทย ให้เด็กเข้าใจว่าเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับเขาจะรู้สึกอย่างไร เราทำให้เข้าใจว่าอยากจะอยู่ในสังคมแบบไหน โดยทำให้เห็นในโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นชุมชนที่ลองผิดลองถูกได้

ในเรื่องของไอที เราเป็นโรงเรียนอันดับต้นๆ ที่นำเรื่องของไอทีมาใช้ค่อนข้างเยอะทั้งการเรียนการสอน แต่เราคำนึงในเรื่องของความเหมาะสมและเวลา ระบบที่เราเปลี่ยนคือ เรื่องของการจัดการ ผมนำระบบที่เรียกว่าระบบประมวลผมมาใช้ค่อนข้างเยอะ ในเรื่องเอกสารต่างๆ มีความถูกต้อง ตั้งแต่ที่ประภามนตรี 2 พอ ผอ.เจตดำริว่าอยากทำเรื่องสิงคโปร์ ผมจึงดำเนินการต่อ

สิงคโปร์เพิ่งเป็นที่จับตามอง?

อันดับ แรกเรามองว่าภาษาจีนเป็นภาษาหนึ่งที่จะมีบทบาทในสังคมโลกปัจจุบัน เป็นอีกภาษาที่จำเป็นสำหรับภูมิภาคนี้ เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ

เรื่องผลการสอบ สิงคโปร์ถือเป็นอันดับต้นๆ ทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ แม้แต่ในอเมริกาหรืออังกฤษก็ยอมรับว่าพัฒนาได้ดีมากและไวด้วยในแง่ของการ ศึกษา หลายๆ ที่ก็เริ่มมาศึกษาว่าสิงคโปร์ใช้ระบบไหน

ยกตัวอย่าง วิชาวิทยาศาสตร์ จริงๆ เขาเริ่มตอนประถม 3 แต่ถามว่าตอน ป.1-2 เรียนมั้ย-เรียน แต่เขามองว่าวิทยาศาสตร์ถ้าเรียนแยก จะเข้าใจแยกส่วน แต่ถ้าเรียนแบบองค์รวมจะเข้าใจแบบองค์รวม ยกตัวอย่างเช่น บ้านเราจะเรียนเรื่องระบบการไหลเวียนของหัวใจของเลือดแยกจากเรื่องอื่น แต่จริงๆ แล้วระบบการทำงานของหัวใจของเลือดก็สัมพันธ์กับเรื่องของอากาศ ซึ่งต่างๆ เหล่านี้สิงคโปร์มองว่าต้องเรียนร่วมกันเป็น 1 เรื่อง

นี่คือจุดเด่นของหลักสูตร?

ครับ หลังจากนั้น คือเรื่องของการเทรนนิ่งตลอด เมื่อมีทฤษฎีใหม่ๆ เข้ามา คุณครูจะต้องได้รับการเทรนตลอด เพราะองค์กรการเทรนนิ่งของเขาค่อนข้างแข็ง เช่น เนชั่นแนล อินสติติว ออฟ เอดูเคชั่น (National Institude of Education) หรือ “เอ็นไออี” เป็นสถาบันเทรนนิ่งครูของสิงคโปร์สถาบันเดียวที่ดูแลครูทั้งประเทศ จึงเข้าใจในเรื่องของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพราะธรรมชาติของแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น เรื่องภาษา คนไทยติดปัญหาการพูด sh ch คุณครูจะต้องมาคิดว่าวิธีการแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร

ตรงนี้คือสิ่งหนึ่งที่สิงคโปร์มีและผลักดันให้การศึกษาของเขาก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งที่สูง กว่านานาชาติ ฉะนั้น เพื่อนฝูงของเขาไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เขารู้จักกันดี เพาะเขาสามารถสื่อสารกันได้ นี่คือความเข้มแข็งของการศึกษาของสิงคโปร์

กับครูใหญ่ มิสหลุยส์ คริสติน ล็อกซ์ตัน
กับครูใหญ่ มิสหลุยส์ คริสติน ล็อกซ์ตัน

คุณครูจากสิงคโปร์?

มี 2 ส่วน การนำเข้าครูอาจใช้ไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม กับรูปแบบของประเทศชาติบ้านเมืองเราด้วย สิ่งที่นำเข้ามาและใช้ได้เลย เช่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คนสิงคโปร์พูดเป็น singlish คืออังกฤษผสมสำเนียงจีน ที่เรามองว่าถ้านำเข้ามาแล้วสามารถยกระดับตรงนี้ได้ เราอยากได้ครูที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักสูตรสิงคโปร์ ขณะเดียวกันต้องพูดภาษาอังกฤษคล่อง ซึ่งจะมีครูที่มาทำงานจนเข้าใจประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกันเขามีภาษาที่สมบูรณ์แบบกว่า ไม่ใช่ singlish

ทางด้านครู ไทยของเราเอง เราทำอย่างไร เรามีพาร์ตเนอร์กับเอ็นไอที กับเอไอซี (Asian International Collage) ซึ่งจะมีการเทรนนิ่ง มีบุคลากรเข้ามาเสริมเติมให้เรา สิงคโปร์เรียนวิทยาศาสตร์แบบไหนที่ผสมผสาน เรียนคณิตศาสตร์อย่างไรจึงสามารถทำข้อสอบของ PISA ได้ดีกว่าชาติไหนๆ ในโลก

เน้นอะไรบ้าง?

เราเน้น 4 ด้าน คือ ทักษะด้านวิชาการ ด้านชีวิต ด้านอารมณ์ และด้านสังคม เป็นหลักที่เราพัฒนาแบบบูรณาการ อย่างเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นแค่ส่วนเดียวของทักษะด้านวิชาการ ซึ่งสามารถเอาส่วนอื่นๆ อีก 3 ด้านเข้ามาใช้ด้วยได้ ด้านสังคมคือสอนการเป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งเป็นทั้งทักษะด้านสังคมและด้านชีวิตด้วย ส่วนด้านอารมณ์จะตามมาเอง เมื่อคนเรารู้จักเคารพการกระทำของผู้อื่น จะตามมาด้วยการควบคุมอารมณ์ นี่คือ 4 ด้านหลักที่ว่า

 ครูจำเป็นต้องจบวิชาชีพครูมาโดยตรง?

ต้อง มอง 2 ส่วนครับ การมีวุฒิครู จะมีบางวิชาที่สาขาอื่นไม่ได้เรียน และเป็นวิชาเฉพาะที่คุณครูต้องมี เช่นทำงานกับเด็กเล็ก จะต้องฝึกเรื่องวินัย ฝึกเรื่องอารมณ์ ต้องรู้ว่าธรรมชาติของเด็กเล็กเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นวิชาเฉพาะ มีดีมั้ย-ดีครับ แต่เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ตรงนี้เป็นเรื่องที่ครูจะต้องพัฒนาตลอด องค์กรที่จะต้องเข้ามาช่วย ก็ต้องเป็นหน่วยงานกลาง พาเทรนเนอร์ดีๆ เข้ามา จัดอีเวนต์สำคัญๆ ให้ความรู้ใหม่ๆ มาใช้กับเด็กได้

เด็กรุ่นใหม่อ่านภาษาไทยไม่ออก ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง?

ผมมองว่าในเรื่องการพัฒนาต้องคุยแบบองค์รวม ปัญหาภาษาไทยเกิดจากอะไร ต้องดูว่าคุณครูที่ผ่านการเทรนเป็นครูภาษาไทย มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้มาตรฐานจริงๆ แล้วห้องเรียนที่เป็นขนาดใหญ่ ผมสงสารคุณครูนะครับ

อย่างของเรา ขนาดนักเรียนห้องละ 20 คน ก็ยังถือว่าเป็นความท้าทาย แล้ว 30-40-50 คนเป็นอย่างไร

20 คนเป็นความท้าทายอย่างไร อย่างแรกเราต้องศึกษารายบุคคล เด็กที่มาจากหลายชาติ มีสำเนียงภาษาไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะให้พูดเพียงภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับภาษาไทยที่พูดควบกล้ำก็ต้องมีการฝึก ซึ่งคุณครูจะต้องเข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล โรงเรียนของเราเน้นตรงนี้ค่อนข้างมาก คุณครูสามารถพูดกับผู้ปกครองได้ เรียนแล้วมีปัญหาในการออกเสียงอย่างไรบ้าง ฯลฯ เช่นเดียวกับภาษาจีนและภาษาไทย

แต่ถ้าห้องเรียนมีถึง 60 คน คุณครูไม่มีเวลาในการทำตรงนี้ ก็แน่นอน สิ่งที่ตามมาคือความสับสนของภาษา

 ครูต้องผ่านการทดสอบ?

เรา มีระบบการประเมิน โดยผู้เชี่ยวชาญ มีการสังเกตการณ์การสอนในห้องเรียน ดูว่าการตอบสนองเด็กเป็นอย่างไร ถ้าเมืองไทยทำได้ คลาสเล็กกว่านี้ ดูแลครูเพิ่มขึ้นนิดนึงในเรื่องอะไรก็ตามแต่ แรงจูงใจ ซึ่งการดูแลไม่ได้หมายถึงการเพิ่มเงินเสมอไป ถามว่าได้ดีมั้ย-ดีครับ แต่ถามว่าได้แล้ว ความรับผิดชอบ ความคาดหวังอยู่ที่ไหน คือพอถึงจุดหนึ่งที่เราต้องคุยกัน ผมคิดว่าในเรื่องของความจริง เรื่องเวลาที่ทุกคนมี เรื่องหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เรื่องของผลงาน คงต้องพูดกันชัดเจน มากกว่าที่เราจะมองว่าเรามีเด็กโอลิมปิก 1 คน แต่ผลสอบทั้งประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ไหว นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงในฐานะที่เราเป็นครู

ในส่วนของโรงเรียน เราเองเห็นว่าตรงนี้เป็นข้อจำกัด ทำอย่างไรจะยกระดับให้ครูมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะครูก็ยังเป็นครู แต่เขาก็ยังมีชีวิตส่วนตัว ยังต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ ดูแลสามี/ภรรยาดูแลลูก

การปรับตัวของโรงเรียนกับการเปิดประชาคมอาเซียน?

เรามองตั้งแต่ก่อนก้าวเข้าสู่เออีซีแล้ว เราจะเรียกเด็กกรุงเทพฯ เด็กในภาคกลางว่า ไข่แดง เพราะพูดได้แค่ 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษกับภาษาไทย แต่เด็กชายขอบจะพูดได้มากกว่า 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่สอนอยู่ในโรงเรียน แต่คนที่แม่สอดพูดภาษาพม่าได้ คนที่อรัญประเทศพูดภาษาเขมรได้ คนที่ภาคใต้พูดภาษามาเลย์ได้ คนที่ภาคเหนืออาจจะพูดลาวได้ พูดพม่าได้ หรืออาจจะพูดเวียดนามได้ เป็นต้น เด็กกรุงเทพฯ เด็กภาคกลางจะพัฒนาได้ช้า เพราะว่าเออีซีเข้ามา ผลกระทบจะลงที่ตรงกลางเต็มๆ

ประชาคมอาเซียนเป็นประโยชน์กับเด็กที่อยู่ชายขอบซึ่งโรงเรียนเองก็ต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงกับชุมชน?

ครับ เพราะชุมชนเขาจะใหญ่ขึ้น เป็นเหมือนเมืองท่า ฉะนั้น เด็กในกรุงเทพฯเองถ้าเป็นภาษาที่ 3 ที่จะต้องฝึก ควรเป็นภาษาจีน เพราะภาษาจีนมีบทบาทในภูมิภาคเราค่อนข้างเยอะ เราก็มองว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คนที่เป็นไข่แดงสามารถคงคุณค่าของตนเอง ได้

ปัจจุบันเวียดนามพูดได้มากกว่า 3 ภาษาแล้ว ส่วนที่กัมพูชาจ้างแค่ 250 ดอลลาร์ พูดภาษาอังกฤษได้ปรื๋อมาก เพราะฉะนั้นมันเห็นภาพว่าเราเองต้องรีบวิ่งให้เราที่สุด ไม่เช่นนั้นเราจะตามเขาไม่ทัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image