‘อธิการ มทร.ธัญบุรี’จี้ป.ป.ช ยกเว้น กก.สภาม.รัฐทั้งหมดยื่นบัญชี ถามเว้น’28 ม.นอกระบบ’แบ่งระดับสถาบันหรือไม่

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิ้น และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน ล่าสุดนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มาตรา 44 มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการกองทุน แต่สำหรับนายกสภาและกรรมการสภา ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไปว่าจะต้องยื่นบัญชีหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า  เมื่อมีประกาศ มาตรา 44 ให้ ป.ป.ช. ปรับนิยามแก้ไขผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตำแหน่งใดต้องยื่นหรือไม่ยื่นทรัพย์สินและหนี้สินออกมา โดยมาตรา 44 นี้ มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่ง มฟล. ถือเป็นหนึ่งในนั้นด้วย จะทำให้นายกสภาและกรรมการสภาจะโล่งใจ และจะไม่ลาออกแล้วหรือไม่ ตนไม่ทราบ และไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ เพราะการลาออกหรือไม่ลาออก ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรรมการสภา อีกทั้งมาตรา 44 เพิ่งออกมาไม่นาน จึงยังไม่ได้หารือกับกรรมการสภาถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม มฟล. จะประชุมสภาในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 อาจจะมีการหยิบเรื่องนี้เข้ามาหารือกันด้วย

นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าสถาบันในระดับอุดมศึกษาไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง หรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มทร.38 แห่ง และมทร. 9 แห่ง ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นคนดีเข้าสู่สังคม แม้จะมีอัตลักษณ์ และคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีบริบทในการทำงานที่เหมือนกัน ดังนั้น หากจะยกเว้นไม่ให้นายกสภาและกรรมการสภายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ควรที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

นายประเสิรฐ กล่าวต่อว่า อยากให้ ป.ป.ช.นำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้รอบคอบ ดูบริบทกฎหมายให้ดี เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคเอกชน ที่เป็นนักธุรกิจที่เข้ามาช่วยเหลือ และทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยจากความรู้และประสบการณ์ของนักธุรกิจเหล่านี้ ส่วนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่ ท้วงติงว่ายังมีความเสี่ยงสูง ที่จะมีความผิดหากแจ้งรายละเอียดผิดพลาดหรือหลงลืมบางอย่างไป อีกทั้งกรรมการสภาเหล่านี้เป็นนักธุรกิจ มองว่าในเมื่อเข้ามาช่วยพัฒนามหาวิทยาลัย แต่ต้องมาเจอความเสี่ยงแบบนี้

Advertisement

“คงจะมีการพูดคุย และหารือกันในกลุ่มของ มรภ.และ มทร. ถึงการตีความและข้อยกเว้นของ ป.ป.ช. ว่ามาจากสาเหตุใด ทำไมมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 28 แห่งได้รับการยกเว้น แต่ขอยืนยันว่าควรจะทำให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน หาก ป.ป.ช.ยกเว้นแค่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 28 แห่ง มีสิทธิมากที่มหาวิทยาลัยรัฐที่ยังไม่ออกนอกระบบ จะลุกขึ้นมาคัดค้านได้ และเชื่อว่าจะมีคำถามตามมามากมาย หลายคนอาจมองว่านี่คือการแบ่งแยกระดับสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ จึงอยากให้ ป.ป.ช.คิดให้รอบคอบ ไม่อยากให้ไปสร้างปัญหาใหม่ หรือมาตั้งโจทย์ใหม่ขึ้นมาอีก และท้ายสุดผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนักศึกษาและมหาวิทยาลัย” นายประเสิรฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image