5 มหา’ลัยจับมือสถาบันขงจื่อ สร้างศูนย์ทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน-ยกระดับศักยภาพคนไทย

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ โครงการยกระดับสมรรถนะนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และกำลังแรงงานในพื้นที่ ให้เป็นเลิศด้านภาษาจีน และการศึกษาทางไกล สู่การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสากล ระหว่างศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน (ประเทศไทย) กับสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ราชนครินทร์, มรภ.เชียงราย, มรภ.ลำปาง, มรภ.สงขลา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทย 5 แห่ง มีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน ในคณะต่างๆ เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายอมรับว่ามีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางทั่วโลก ดังนั้น จะต้องสร้างบัณฑิตให้สามารถติดต่อใครก็ได้ในโลกนี้ ซึ่งความสามารถด้านภาษาอังกฤษยังไม่พอ นักเรียนจะต้องสามารถใช้ภาษาประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษาจีน เพราะปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจีนเป็นผู้นำระดับโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม การที่เรารู้ภาษาจีนจะทำให้เรามีศักยภาพและมีพลังในการพัฒนาการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมได้

“โดยความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านการสอน เทคนิคการสอน และการทดสอบ เพื่อรองรับความสามารถวิชาชีพครูภาษาจีนระดับสากล (CTCSOL), เพื่อพัฒนาศักยภาพของ มหาวิทยาลัยในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถด้านภาษาจีน, เพื่อใช้หลักสูตรทางไกลของจีน และร่วมพัฒนาหลักสูตรสองปริญญา หรือหลักสูตรการศึกษาทางไกล ที่สามารถยกระดับศักยภาพบุคลากรไทย – จีน ให้สามารถเทียบโอนประสบการณ์ และพัฒนาตนเองสู่การมีวุฒิที่สูงขึ้น และเพื่อเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในไทย และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และยกระดับคุณภาพนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีเป้าหมายร่วมกัน คือ สร้างศูนย์ทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนทางอินเทอร์เน็ตใน 5 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะร่วมมือกับศูนย์การศึกษาทางไกลสถาบันขงจื่อ (ประเทศจีน) และศูนย์สอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนในอาเซียน นำหลักสูตรทางไกลและหลักสูตรฝึกอบรมของประเทศจีนมาใช้กับเยาวชน นักศึกษา ครูผู้สอนภาษาจีน และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่หลักสูตรสองปริญญา นอกจากนี้ตนมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ไปพิจารณามาตรฐานวิชาชีพครู ของครูสอนภาษาจีนใหม่ เพื่อให้ครูที่จบด้านนี้มีมาตราฐานเดียวกันและเป็นที่ยอมรับ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image