จับตา ป.ป.ช.  แก้ปม ‘กก.สภา’ เมินยื่นทรัพย์สิน

ยังต้องลุ้นกันต่อไป หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศขยายเวลาการยื่นบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สินออกไป 60 วัน จากเดิมมีผลวันที่ 2 ธันวาคม 2561 เป็นมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อหาทางออก กรณี ประกาศป.ป.ช.เรื่อง กำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ.2561

ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียน และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคล ซึ่งรวมถึงนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย ตลอดจน ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาซึ่งเทียบเท่าอธิการบดี รองผู้อำนวยการ นายกสภา และกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง และนายกสภา และกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน(วชช.)

ก่อให้เกิดกระแสคัดค้าน โดยเฉพาะนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ย้ำเสียงดังว่า ไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งไม่ใช่เพราะกลัวการตรวจสอบ!!

แต่เพราะทำให้เกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย โดยเฉพาะตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชน ที่บางคนมีทรัพย์สินจำนวนมาก เกรงว่าหากหลงลืมแจ้งไปในบัญชีทรัพย์สิน หรือกระทั่งหากบุตรหรือภรรยาหลงลืม ก็อาจทำให้มีความผิดทางอาญาโดยไม่จำเป็น ….

Advertisement

อีกทั้งการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ยังอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ยื่น เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในการหาผลประโยชน์ กลั่นแกล้งส่งผลให้ขาดความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต!!

ส่งผลให้กรรมการสภาฯ และนายกสภาฯ ยื่นหนังสือลาออก และที่สะเทือนที่สุด หนีไม่พ้น กรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์(มรร.) พร้อมทั้งลาออกจากตำแหน่งนายกสภาฯ ทุกแห่ง

แม้จะให้เหตุผลว่า การลาออกของนายมีชัยไม่น่าจะเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่เพราะภารกิจที่มี ประกอบกับอายุที่มากขึ้น อาจจะทำให้เหนื่อย ขณะที่กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ มรร. ลาออกจากตำแหน่ง 2 ราย ส่วนที่เหลือทำหน้าที่สรรหานายกสภาฯ เพื่อไม่ให้การทำงานในมหาวิทยาลัยหยุดชะงัก และประกาศจะลาออกก่อนประกาศป.ป.ช.มีผลบังคับใช้

Advertisement

ขณะที่สภามหาวิทยาลัยอื่น ๆ อย่างเช่น สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีกระแสข่าวออกมาว่า นักกฎหมายชื่อดังอย่าง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาฯ และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า ก็เตรียมจะลาออกเช่นกัน

รวมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ที่เกิดความระส่ำระส่ายพอสมควร โดยนายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ในฐานะกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ มธ. กรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า แม้จะบอกว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจแต่มีแนวโน้มว่าจะลาออกทั้ง 3 แห่ง เพราะไม่อยากยุ่งยาก จึงไม่อยากเสี่ยง

ไม่เท่านั้น มธ. ยังส่อว่า จะมีปัญหา ไม่สามารถสรรหาสภามธ. ชุดใหม่ได้ เพราะไม่มีใครตอบรับเทียบเชิญ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต่างรอดูว่า ป.ป.ช.จะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

เช่นเดียวกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ที่มองว่า การกำหนดให้นายกและกรรมการสภาฯ เป็นตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างมาก และเชื่อว่า หากป.ป.ช.ยังยืนยันว่า ‘ต้องยื่น’ ก็คงมีกรรมการสภาฯ ยกทีมลาออกอีกเพียบ !!!

ท่ามกลางเสียงขอร้อง ทั้งจากฟากรัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเจ้ากระทรวงอย่างนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ที่ขอให้ทุกคนใจเย็น ๆ รอฟังทางออกจากป.ป.ช. ก่อน

กระทั่งล่าสุด ป.ป.ช.เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปรับนิยามผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิ้น และตำแหน่งใดไม่ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สิน

ซึ่ง นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มาตรา 44 มีผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 28 แห่ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการกองทุน แต่สำหรับนายกสภาและกรรมการสภา ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิมที่ยังไม่ออกนอกระบบ มรภ. 38 แห่ง มทร. 9 แห่ง ต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไปว่าจะต้องยื่นบัญชีหรือไม่นั้น

ต้องบอกว่า นาทีนี้มาตรา 44 ทำได้เพียงลดอุณหภูมิได้ชั่วคราว เพราะเงื่อนไขที่นายกสภาและกรรมการสภาฯ ส่วนใหญ่เรียกร้องคือ ให้เว้นตำแหน่งดังกล่าว ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น !!

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ ตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง (ทป.มรภ.) และกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) ที่ยืนยันให้ป.ป.ช. ทำตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไล่เช็กบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกสภาและกรรมการสภาฯ เช่นเดียวับตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม

แว่วมาว่า วันที่ 4 มกราคม 2562 ป.ป.ช.จะเชิญหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดตามมาตรา 102 ที่กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหลังจากการหารือ จะมีการแก้ไขประกาศป.ป.ช.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ส่วนเมื่อแก้ไขประกาศป.ป.ช.แล้วนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการกองทุนบางหน่วยงาน จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ก็ต้องลุ้นกันต่อไป

แต่ดูจากแนวโน้มและแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เชื่อว่า ทางออกป.ป.ช. หนี้ไม่พ้น ปลดล็อกเว้นตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภา ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็คงต้องมีคำตอบที่ดี ให้กับสังคม โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และเป็นธรรม !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image