‘มศว-มติชน’ เซ็นเอ็มโอยู ร่วมพัฒนา ‘ความรู้-ข้อมูล-ข้อเท็จจริง’ มุ่งประโยชน์ส่วนรวม (คลิป)

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ศ.ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผศ.พินิจ เทพสาธร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากายภาพและสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ พร้อมผู้บริหาร มศว ลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ ระหว่าง มศว ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการมติชนรายวัน นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน นายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ร่วมลงนาม

นายฐากูร กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์สังคมไทยปัจจุบัน” ตอนหนึ่งว่า อีก 4-5 ปีข้างหน้า โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว และมหาศาล จากอัตราเร่งทางเทคโนโลยี นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างชีวิตมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดมีปัจจัยอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายนอก ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ หรือควบคุมได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งแม้จะควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีให้ได้ ด้วยการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจ หากเรื่องใดต่อต้านไม่ได้ ก็ต้องลื่นไหลไปตามสถาการณ์ เราต้องปรับตัว ที่สำคัญต้องไม่กลัวเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความเคยชิน และการไม่คิดนอกกรอบ

นายฐากูรกล่าวต่อว่า ส่วนที่สองคือ ปัจจัยที่เราสร้างขึ้นมาเอง หรือปัจจัยที่เราควบคุมได้ โดยสถานการณ์ปัจจุบัน คนส่วนมากมองข้ามช็อตเรื่องการเลือกตั้งไปแล้ว การแพ้ชนะเป็นเรื่องหนึ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในความเห็นส่วนตัวเข้าใจว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของคนไทยคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ 10 ปีที่ผ่านมา เราซ้ำเติมด้วยความเหลื่อมล้ำทางการเมือง การมีประชาธิปไตย เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ตรงนี้ไม่มีใครรู้ได้ แต่ประชาธิปไตยทำให้คนมีความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งช่องทางนี้หายไปนานกว่า 10 ปี ส่งผลให้สังคมเกิดความอึดอัด และแรงกดดันมากขึ้น

Advertisement

“เราหวังว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงครั้งนี้ จะเป็นช่องทางที่จะระบายอุณหภูมิที่สั่งสมในสังคม เพื่อหาทางออกให้อนาคต ซึ่งค่อนข้างคดเคี้ยว และแปรปรวนขึ้นทุกวัน ประเด็นคือทำอย่างไรเราจะใช้ทรัพยากร บุคคล เวลา และอื่นๆ มาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผมไม่แน่ใจว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยมากที่สุดในโลกหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียง ดูได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ หรือจีดีพี 4 ปีที่ผ่านมา โตขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านบาท ขณะที่บริษัทที่อยู่ใน SET100 เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 85% หมายความว่า ใน 100 บริษัท หรือ 100 เจ้าสัว เข้ามากินส่วนของชาวบ้านธรรมดากว่า 2 ล้านล้านบาท เงินไปงอกเฉพาะบางกลุ่ม ถึงเกิดอาการติดขัด ขัดข้อง เกิดเป็นคำว่า รวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งไปโทษใครคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางโครงสร้าง สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยวให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และโปร่งใส เรื่องนี้ไม่มีทางลัด และไม่มีอำนาจใดในโลกมาสั่งได้ว่า ความเหลื่อมล้ำจงหมดไป คอมมิวนิสต์สุดโต่งเคยทำมาแล้ว และพบว่าการทำให้ทุกคนจนเท่ากัน เป็นความล้มเหลวอย่างมหาศาล ในหลายๆ สังคม หรือที่เห็นชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา เสรีนิยมสุดขีด ก็ทำให้สังคมห่างกันไปทุกที เราต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะลบ หรือแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้ให้ได้” นายฐากูร กล่าว

นายฐากูรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ มศว กับมติชน มีความร่วมมือกัน อาจจะเป็นเพียงความพยายามเล็กๆ เป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ในการเดินไปสู่การแก้ไขปัญหาบางอย่าง เรา 2 สถาบันคงไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทั้งหมด แต่หากความร่วมมือของเราเจริญงอกงามขึ้นมา แล้วทำให้คนอื่นเห็นได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ก็อาจมีความร่วมมือเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอีกหลายๆ ที่ ตนรู้สึกยินดี ที่มหาวิทยาลัย และองค์ความรู้เดินไปพร้อมกับสังคม เชื่อว่าต่อไปสังคมจะตัดสินอะไรโดยใช้ฐานข้อมูล เหตุผล และสติปัญญามากกว่าอารมณ์ หวังว่าความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร จะส่งเสริมการพัฒนาความรู้ การพัฒนาข้อมูล ข้อเท็จจริง สติปัญญาให้งอกเงยขึ้น เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว กล่าวว่า มศว มีนโยบายชัดเจนในเรื่องความหลากหลายทางศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาที่บูรณาการศาสตร์ข้ามศาสตร์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณะสังคมศาสตร์ ผลักดันทิศทางศาสตร์รับใช้สังคม ซึ่งในส่วนของความร่วมมือกับสื่อมวลชน มศว ได้เล็งเห็นว่า มติชนเป็นสื่อมวลชนที่มีจุดยืนเรื่องการมองสังคม วัฒนธรรมและการศึกษาอย่างยั่งยืนและตรงไปตรงมาตลอด 42 ปีที่ผ่านมา จึงมีการประสานความร่วมมือ ซึ่งตนเองและผู้บริหารมติชนได้พูดคุยกันถึงทิศทางความร่วมมือ โดยทางอธิการบดีมศว ให้นโยบายเรื่องเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกับทิศทางของมติชน ที่ให้บริการศาสตร์ทางสังคมและผลักดันให้หลายๆ ศาสตร์มีส่วนร่วมกับสื่อมวลชนในทิศทางวิชาการ ภายใต้กรอบ การบริการวิชาการ ความร่วมมือทางบุคลากรในการส่งเสริมองค์ความรู้ ความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมต่อไป

Advertisement

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ยินดีที่ทางมติชนเห็นความสำคัญของการศึกษา มศว เริ่มต้นด้วยการเป็นวิทยาลัยฝึกหัดครูชั้นสูง จนกระทั่งเปลี่ยนสถานะมาเป็นมหาวิทยาลัย การที่มติชนได้มาร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์ของ มศว ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาปัจจุบัน โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ เพราะเราเป็นผู้สร้างคนออกไปสู่สังคม โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์มีความสำคัญมาก ในการทำให้นิสิตของเรามีความเป็นมนุษย์ ที่มีคุณธรรมจริยธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image