จาก…จิตรกรรมฝาผนัง สู่…จิตรกรรมไทยแบบประเพณี

ปกติภาพวาดเกี่ยวกับพุทธประวัติมีให้ชมหรือศึกษาตามจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหาร วัดวาอารามต่างๆ แต่ตอนนี้เราสามารถชมภาพเหล่านี้ได้ในแกลเลอรี่

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวงสัญจร” ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโดยกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมกับมูลนิธิบัวหลวง จัดแสดงภาพวาดของผู้ชนะการประกวดจากศิลปินทั่วประเทศ ตลอดจนภาพที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดแสดง จำนวนกว่า 50 ชิ้น ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย

“มูลนิธิบัวหลวง จัดการประกวดจิตรกรรมไทยแบบประเพณีหรือแบบไทยแท้ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 40 แล้ว เพื่อฟื้นฟูภาพเขียนไทยที่ล้าสมัย ไม่ค่อยมีคนสนใจ จนได้จิตรกรที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตร อลังการ เฉกเช่นศิลปะงานช่างเขียนโบราณ ทำให้มีผู้ติดตามมากขึ้น เป็นมิติใหม่ของวงการภาพวาดไทย ซึ่งผู้ที่จะวาดภาพแนวนี้ได้ต้องมีการศึกษาพุทธประวัติมาเป็นอย่างดี นายอภิชาติ รมยะรูป กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิบัวหลวงเล่าถึงที่มาของงาน”

ในความวิจิตรของผลงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ทำให้เหล่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องใช้แว่นขยายในการพิศพิจารณาผลงาน ไม่ใช่แค่นั้น ตัวศิลปินเองก็ใช้แว่นขยายในการสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

Advertisement

นายวิรัตน์ เอกปัจจา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดจิตรกรรมไทยแบบประเพณี กล่าวถึงผลงาน อัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติว่า “เป็นการวาดภาพแนวสมัยอยุธยาผสมผสานกับรัตนโกสินทร์ โดยใช้แว่นขยายช่วย ใช่พู่กันเบอร์เล็กที่สุด แล้วเหลาให้เล็กลงไปอีกเหลือเพียง 3 เส้น ใช้สีฝุ่นเหมือนกับภาพรูปแบบประเพณีโบราณ บอกเล่าเรื่องราวตามพุทธประวัติ ด้วยความศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้า ในตอนอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติ โดยนำมาตีความและใส่เรื่องราวลงไป ภายในภาพมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ที่รอการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป มีเหล่าเทวดา พระอินทร์ พระพรหม มาอัญเชิญพระองค์ไปจุติยังโลกมนุษย์”

สำหรับจิตรกรรมไทยแนวประเพณีนั้น เป็นการหยิบเอาความโบราณมาทำให้ทันสมัย โดยรางวัลชนะเลิศ คือผลงาน “วิถีชีวิตอีสาน” ฝีมือของนายสกล มาลี ลักษณะเหมือนภาพโบราณเก่าๆ ที่ติดอยู่ตามผนังโบสถ์

Advertisement

แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีต ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ของคนอีสานที่ตัวเองสัมผัสและคลุกคลี มีการสืบทอดต่อๆ กันมา ใช้เทคนิคการวาดแบบจิตรกรรมอีสาน มีความอิสระในการทำงาน ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นที่ตั้ง ใช้เส้นสีถ่ายทอดน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป มีสีครามเป็นหลักแทนวิถีของคนอีสาน มีการใช้ผงทองคำเปลวแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ผ่านสิ่งของ บรรยากาศที่ทับซ้อนกัน ทำให้อบอวลหวนกลับไปนึกถึงวันวานที่บรรพบุรุษสร้างมา ล้วนมีคุณค่าความหมาย นายสกลกล่าว

ไทยมุง” โดยนายอนันต์ยศ จันทร์นวล คือผลงานชนะเลิศประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย ที่สะท้อนภาพสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง

“ผมวาดภาพไก่กับม้าลายให้มีขนาดใหญ่เกินจริง ส่วนคนมีขนาดเล็กมาก ต้องการสื่อถึงความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาของคนไทย ที่ให้คุณค่ากับวัตถุมากกว่าการกระทำและจิตใจ โดยไม่มีเหตุผล ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ภาพนี้ไม่ได้ต้องการลบหลู่ เพียงเป็นการเตือนสติ สะกิดใจให้ไตร่ตรอง ฉุกคิดว่าเราให้ค่ากับวัตถุมากเกินไปหรือเปล่า” นายอนันต์ยศ กล่าว

นิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวงสัญจร” ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลที่ 2 รางวัลที่ 3 และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดง อันเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ ความสุข ความทรงจำของศิลปินที่ส่งผ่านถึงผู้ชื่นชมผลงาน จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 ในวันและเวลาราชการ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มน. โทร 0-5596-1143

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image